17 หน่วยงาน ร่วมกับ กสม. ขับเคลื่อน "สังคมไทยไร้การทรมาน" - เตรียมพร้อม และทำความเข้าใจ การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) และการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM)

12/02/2567 50

          เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย: กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) ผนึกกำลังจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงาน และภาคีที่เกี่ยวข้องต่อการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 70 คน เป็นผู้แทนจาก 17 หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
 
          นายเบญจามิน บัคแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการป้องกันการทรมาน APT ผู้แทนคณะอนุกรรมการป้องกันการทรมาน (SPT) และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตราภรณ์ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ได้นำเสนอ และแลกเปลี่ยนความสำคัญของ OPCAT และบทบาทหน้าที่ของกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) โดยพบว่า การจัดตั้ง NPM มีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละประเทศ แต่ทว่า กว่าร้อยละ 80 ของการจัดตั้งกลไก NPM ประเทศที่เป็นภาคีของ OPCAT ทั่วโลก 78 ประเทศ เป็นการจัดตั้งกลไก NPM ในสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งนี้ เน้นย้ำว่า NPM เป็นการสร้างกระบวนการป้องกันการทรมานอย่างเป็นระบบ ผ่านการจัดตั้งกลไก ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุม คุมขัง และลิดรอนเสรีภาพ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการซ้อมทรมาน โดยมิติการทำงานของ NPM ทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน การพัฒนาคุณภาพของระบบเชิงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้หลักฐานข้อเท็จจริงที่พบจากการตรวจเยี่ยมในเชิงป้องกัน และเป็นการทำงานที่ส่งเสริมหน่วยงานตรวจเยี่ยมอื่น ๆ มิใช่ซ้ำซ้อนกับการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของกลไกอื่น ๆ ที่มีอยู่ (complimentarity)
 
          ในการประชุมดังกล่าว นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ร่วมนำเสนอ และเน้นย้ำ ให้รัฐบาลพิจารณาการภาคยานุวัติ เข้าร่วมเป็นภาคี OPCAT และการจัดตั้งกลไก NPM โดย กสม. ดำเนินงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการป้องกันการทรมาน มาตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิบัติงานในปี 2544 และต่อมาในปี 2557 ได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ในการพิจารณาเข้าเป็นภาคี OPCAT และการจัดต้ั้งกลไก NPM
 
          จากนั้น นายพิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. ได้นำเสนอการดำเนินงานหลัก ๆ ของสำนักงาน กสม. ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การพัฒนาศักยภาพ และจัดตั้งหน่วยภายในรองรับการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว ที่สอดคล้องกับแนวทางและมาตรฐานของกลไก NPM (2) การพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงาน ผ่านการจัดทำชุดวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือการตรวจเยี่ยม พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและการเรียนการสอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พัฒนาการแสวงข้อเท็จจริงและการให้ความเห็นทางการแพทย์ และพัฒนากระบวนการช่วยเหลือเยียวยาที่เกี่ยวข้อง และ (3) การกำหนดให้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญขับเคลื่อนผ่านสมัชชาสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง
 
          ต่อจากนั้น นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม. ได้นำเสนอแนวทางข้อเสนอการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เน้นการดำเนินงานกับ 3 หน่วยงานหลัก คือ (1) การทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางการทหาร (2) การสนับสนุนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำแผนการปรับปรุงสถานีตำรวจ และห้องกักของ สตม. และ (3) การตรวจเยี่ยมเรือนจำกับหน่วยงานด้านราชทัณฑ์ ซึ่งหลังจากการดำเนินการจะจัดทำสรุปและข้อเสนอแนะนำต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
          ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคี OPCAT  และแนวทางการปฏิบัติตามพิธีสารดังกล่าวของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน