กสม. สุภัทรา ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร

09/02/2567 44

          เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 604  ชั้น 6 อาคารรัฐสภา นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 2 และเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร  เพื่อให้ข้อมูลและความเห็นในประเด็นเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่เป็นผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 และการรับรองสิทธิของคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยที่ประชุมมีความเห็นสรุปดังนี้

1. ผลกระทบต่อสิทธิในครอบครัว
          ประเด็นนิยามคู่สมรส ยังจำกัดสิทธิอยู่ที่นิยามคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายไทย กล่าวคือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ทำให้บังคับใช้อยู่ที่ “คู่สมรสชาย-หญิง” เท่านั้น ทั้งนี้ จะไม่ครอบคลุมถึงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายต่างประเทศ คู่สมรสเพศเดียวกัน หรือแม้แต่บุคคลคนเดียวที่ประสงค์จะใช้สิทธิก่อร่างสร้างครอบครัว ตาม ICCPR ข้อ 23 ซึ่งในบางประเทศ บุคคลที่เป็นโสดสามารถยื่นขอให้มีการอุ้มบุญได้ เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร ที่แม้จะยังไม่รองรับไว้ในกฎหมายอย่างชัดแจ้ง แต่ได้มีคำตัดสินอนุญาตให้เคส Re Z (No.2) ในปี 2559

2. ผลกระทบต่อความเสมอภาคทางเพศ
          - ยังมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้ที่ขอให้มีการตั้งครรภ์แทนไว้แตกต่างกัน ปัจจุบัน กฎหมายกำหนดไว้เพียงอายุของภริยาเท่านั้น (ไว้ที่ 55 ปี) แต่ไม่กำหนดบิดา ซึ่งอาจส่งผลต่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็กที่จะเกิดมาในอนาคต
          - มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้บริจาคไข่/อสุจิไว้แตกต่างกัน โดยผู้บริจาคไข่จะต้องมีหรือเคยมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และบริจาคได้รอบละ 1 ครั้ง และไม่เกิน 3 รอบ ขณะที่การบริจาคอสุจิ ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องเคยมีการสมรสมาก่อน แต่หากผู้บริจาคอยู่ระหว่างการสมรส ต้องได้รับความยินยอมเช่นเดียวกัน โดยบริจาคให้มีการตั้งครรภ์จนได้บุตรไม่เกิน 10 ครอบครัว

3.ผลกระทบต่อสิทธิเด็ก
          - สิทธิในการรับทราบว่าใครเป็นบิดามารดาที่แท้จริง (เจ้าของเซลล์ต้นกำเนิด) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 7 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือสิทธิในการที่จะรู้จักบิดามารดาของตน
          - ปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูล “บิดา” และ “มารดา” ตามชีววิทยา เพื่อป้องกันปัญหาการสมรสของพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันในอนาคต อันจะเป็นปัญหาทางด้านโรคทางพันธุกรรม ที่เป็นที่มาในการตรากฎหมายเกี่ยวกับการสมรสของพี่น้องเลือดชิด
          - ควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติของพ่อแม่อุ้มบุญในลักษณะเดียวกันกับการตรวจสอบผู้รับบุตรบุญธรรม เพื่อป้องกันกรณีการค้ามนุษย์ หรือการแสวงหาประโยชน์อื่นจากเด็ก ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลักเกณฑ์เพียงแค่ตามที่แพทยสภากำหนด
          - การติดตามผลการดำเนินการกรณีเคสชายชาวญี่ปุ่นที่ศาลตัดสินให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากแม้จะเป็นกรณีที่ได้ดำเนินการก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ หากลักษณะการดำเนินการ วัตถุประสงค์ ตลอดจนจำนวนการอุ้มบุญ ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อการถูกค้ามนุษย์ หรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ อันจะขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่อง การขายเด็ก การค้าประเวณี และสื่อลามกเกี่ยวกับเด็ก
 
4. ผลกระทบต่อสิทธิสตรี
          - การที่ผู้หญิงต่างชาติถูกจูงใจให้มาเป็นแม่อุ้มบุญ และอาจเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เช่น กรณีมีการอุ้มบุญเพื่อการค้า ตามมาตรา 48 ประกอบมาตรา 24
          - เรื่องสิทธิในการลาคลอดของแม่อุ้มบุญ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสุขภาพ เนื่องจากตามประกาศฯ กำหนดไว้เพียง 30 วัน เพียงพอต่อการฟื้นฟูสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์แทนแล้วหรือไม่ รวมถึงการดูแลสุขภาพของแม่อุ้มบุญ อย่างกรณีที่ตรวจพบในเคสชายชาวญี่ปุ่น ที่ให้อยู่รวมกันโดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้
 
5. ปัญหาอื่น ๆ
          - ต้องมีการทบทวนเปลี่ยนแปลงนิยามคำในพระราชบัญญัตินี้หากร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้านามและการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
          - พระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นที่สงสัยว่าสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ หากเกิดการบังคับใช้กรณีการว่าจ้างการอุ้มบุญเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งทำให้ปัญหาการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์และความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์อาจยังเกิดขึ้นอยู่
          - ค่าตอบแทนที่ให้ต่อแม่อุ้มบุญนั้น เพียงพอหรือไม่ต่อการตั้งครรภ์ครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในสภาวะที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดติดลบเช่นนี้วที่ 2

เลื่อนขึ้นด้านบน