กสม. สุภัทรา ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดการประชุมหารือแนวทางการผลักดันให้มีกฎกระทรวงแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงานในสถานบริการ

12/02/2567 39

          เมื่อวัน 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องลาเวนเดอร์ 2 โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยสำนักกฎหมาย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP ประเทศไทย) จัดการประชุมหารือแนวทางการผลักดันให้มีกฎกระทรวงแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงานในสถานบริการ โดยมีนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดและสรุปการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน ที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย ด้านแรงงาน ด้านพัฒนาสังคม เจ้าของผู้ประกอบการ และพนักงานบริการ รวมทั้งสิ้น 50 คน
 
          ช่วงแรก เริ่มด้วยคุณสุรางค์  จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เล่าถึงที่มาว่าทำไมต้องยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และการขับเคลื่อนให้มีร่างกฎกระทรวงแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงานในสถานบริการ จากนั้นคุณสมชาย  หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน นำเสนอร่างกฎกระทรวงแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงานในสถานบริการ
 
          ช่วงที่สอง ตัวแทนพนักงานบริการและตัวแทนเจ้าของสถานประกอบการ ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎกระทรวงแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงานในสถานบริการ โดยมี คุณจำรอง  แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
          สำหรับช่วงการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงานในสถานบริการ มีวิทยากรประกอบด้วย คุณนัยนา  สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร คุณนิยดา  เสนีย์มโนมัย ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม คุณอภิรดี  สุสุทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ผู้แทนกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และคุณบุญธรรม  ศรีสมาน นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ดุสิตา  พึ่งสำราญ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
 
          ช่วงท้ายของการประชุม นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สรุปการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นการนำเสนอร่างกฎกระทรวงแรงงานคุ้มครองพนักงานบริการให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเป็นครั้งแรก เพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยทุกภาคส่วนเห็นร่วมกันว่าคนทำงานในสถานบริการตามกฎหมายสถานบริการทุกคนควรได้รับความคุ้มครองในฐานะแรงงาน แต่เนื่องจากลักษณะการทำงานมีความแตกต่างหลากหลาย และอาจมีลักษณะแตกต่างจากการทำงานโดยทั่วไป จึงต้องออกเป็นกฎกระทรวงแรงงานเหมือนกรณีคนทำงานบ้าน คนทำงานในภาคเกษตร เป็นต้น แต่ยังอยู่ภายใต้ร่มใหญ่คือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ส่วนก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ กสม. ยินดีเป็นตัวกลางประสานให้เกิดการประชุมหารือวงเล็กกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุงและเสนอร่างกฎกระทรวงแรงงานเพื่อคุ้มครองคนทำงานในสถานประกอบการต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน