กสม. ศยามลร่วมเสวนางานวันช้างไทย 13 มีนาคม “การอนุรักษ์และอยู่ร่วมกัน : ความหวังของวิถีชีวิตที่ยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก"

19/03/2567 43

          เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเสวนาประเด็น “วิถีชีวิตที่ยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก : การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์” เพื่อการจัดการคนกับช้างป่า สู่แนวทางขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่านอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ ร่วมกับ รศ.ดร.รัตนวัฒน์  ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.รองลาภ  สุขมาสรวง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.ธนพร  ศรียากูล คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีการถ่ายทอดสด (Live) ผ่านเพจเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thai PBS และนักข่าวพลเมือง
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึง ความสำคัญของการรับฟังปัญหาชาวบ้านที่ประสบเหตุกับช้างป่าในหลาย ๆ กลุ่มและหลายพื้นที่ รวมถึงปัญหาของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชผู้ดูแลสัตว์ป่า กรมบัญชีกลางผู้ออกระเบียบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ผู้ใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อปัญหา เงื่อนไข ข้อจำกัด และอุปสรรคต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การกำหนดวิธีแก้ปัญหาที่สาเหตุ และพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาประสบผลสำเร็จ คือ คนทุกคนที่เกี่ยวข้องและการสื่อสารที่ถูกต้อง ตลอดระยะเวลาการทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตนในช่วง30 ปีที่ผ่านมา ตกผลึกความคิดได้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำงานโดยมองเห็นถึงทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่ของการทำงาน โดยเฉพาะปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนหรือผู้รับบริการจากรัฐ รวมทั้งมุ่งเน้นการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน ที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ประสบเหตุในพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหา และร่วมคิดวางแผนแก้ไขปัญหาไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเหตุแห่งปัญหาและความยั่งยืนในวิถีชีวิตที่เหมาะสมกับชาวบ้าน
 
          ในการแก้ไขปัญหาการจัดการช้างป่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์นั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพียงทำหน้าที่ประสานราชการและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือขับเคลื่อนงานตามบทบาทหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานในทิศทางที่หนุนเสริมกันต่อการแก้ไขสาเหตุของปัญหา โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมบัญชีกลาง กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามประกาศของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ที่เป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนของประชาชนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567
 
          นางสาวศยามล กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม. อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบข้อตกลงสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของอาเซียนซึ่งประกอบด้วยประเด็นของสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษต้องรับผิดชอบ ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน รัฐต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย กสม. จะรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปลายเดือนเมษายน 2567

เลื่อนขึ้นด้านบน