กสม.ศยามล ร่วมเวทีเสวนา “ยุติการลอยนวลผู้กระทำความผิด : หนทางยาวไกลของงานสิทธิมนุษยชนไทยเรื่องการบังคับบุคคลสูญหาย”

14/03/2567 42
               เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมงาน “ใช้อำนาจให้เกิดความยุติธรรมแทนบังคับสูญหาย : 20 ปี ทนายและนักปกป้องสิทธิฯ สมชาย  นีละไพจิตร” จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย โดยเป็นวิทยากรในเวทีเสวนา “ยุติการลอยนวลผู้กระทำความผิด : หนทางยาวไกลของงานสิทธิมนุษยชนไทยเรื่องการบังคับบุคคลสูญหาย” ร่วมกับ นพ. นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุด 2 นางสนิทสุดา  เอกชัย อดีตบรรณาธิการบทความและผู้ผลิตเนื้อหาสารคดีสื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชนของ Bangkok Post นางสาวสัณหวรรณ  ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) นายรัษฎา  มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย นางสาวปรานม  สมวงศ์ ผู้แทนองค์กรโปรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล (PI) ณ ห้องประชุมชั้นล่าง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
               กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความมุ่งมั่นในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือเหยื่อที่ถูกอุ้มหายหรือถูกซ้อมทรมาน โดยร้องเรียนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสถิติเรื่องร้องเรียนในปี 2564 มีจำนวน 17 คำร้อง ปี 2565 จำนวน 8 คำร้อง และปี 2566 จำนวน 10 คำร้อง  ทั้งนี้ ก่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ญาติของผู้เสียหายจะมาร้องเรียน กสม. หลังผ่านไป 1 เดือน ซึ่งมีข้อจำกัดในการแสวงหาหลักฐานของ กสม. เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ กสม.จึงนำมาเป็นหลักในการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน แม้จะมีการประกาศใช้กฎหมายนี้ผ่านมา 1 ปีแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังไม่เข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือ Optional Protocol to CAT (OPCAT) ทำให้การเข้าถึงพยานหลักฐานในสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สถานีตำรวจ เรือนจำ สถานกักตัวของคนต่างด้าว รวมถึงสถานที่อื่น ๆ ที่รัฐใช้ควบคุมตัว ที่จำเป็นต้องเข้าถึงพยานหลักฐานโดยทันที จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับ กสม. ที่ไม่สามารถหาหลักฐานได้
 
               ทั้งนี้ กสม. เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ในมาตรา 7 การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือซ้อมทรมาน มีลักษณะเป็นอาชญากรรมพิเศษ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐ มาตรา 10 ครอบคลุมถึงการถูกบังคับสูญหายนอกราชอาณาจักรไทยด้วย และมาตรา 22 ต้องมีการบันทึกภาพกล้องวงจรปิดอย่างต่อเนื่อง แต่จากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ตำรวจมักอ้างหลักความมั่นคง พบว่าการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิดมีลักษณะไม่ต่อเนื่อง ซึ่ง กสม. เห็นว่าหลักความมั่งคงต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับความคุ้มครอง ไม่ให้ถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกซ้อมทรมาน กสม. จึงวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ตำรวจมีความเข้มงวดในการดำเนินการตามกฎหมาย
 
               ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณี 9 คนที่ถูกบังคับให้สูญหาย ได้แก่ อิทธิพล  สุขแป้น  วุฒิพงศ์  กชธรรม  สุรชัย  ด่านวัฒนานุสรณ์  ชัชชาญ  บุปผาวัลย์  ไกรเดช  ลือเลิศ  ชีพ  ชีวะสุทธิ์  กฤษณะ  ทัพไทย  สยาม  ธีรวุฒิ และวันเฉลิม  สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีการยื่นคำร้องเมื่อปี 2564 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดย กสม. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย อัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ทนายความ และพบว่า ทุกคนที่ถูกอุ้มหายได้รับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้ไปรายงานตัว ทำให้ทั้ง 9 คน ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ทั้ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กัมพูชา เวียดนาม โดยลักษณะการหายตัวคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ มีการติดต่อกับญาติและหลังจากนั้นก็ถูกอุ้มหาย เช่น กรณีของ วันเฉลิม มีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพขณะถูกอุ้มหายก็ยังไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ สุรชัย ที่ยังไม่พบศพ แต่อีก 2 คนพบศพ ทราบต่อมาคือ ชัชชาญ และ ไกรเดช ซึ่งญาติได้รับค่าเสียหายไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ รายงานของผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากองค์การสหประชาชาติเชื่อว่า ทั้ง 9 คน ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้มาจากเหตุผลส่วนตัว เป็นเหตุผลการเมือง นอกจากนี้ กสม. ได้กล่าวถึงการเยียวยาและชดเชย หมายถึง การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การจ่ายสินไหมทดแทน การบำบัดฟื้นฟู การทำให้พอใจ และการประกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งการเยียวยาจะต้องรวมถึงญาติที่รอคอยโดยไม่รู้ชะตากรรมด้วย
 
               สุดท้ายนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนของ กสม ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ดังนี้
1. ให้รัฐบาลพิจารณาการเข้าร่วมเป็นภาคี OPCAT
2. จัดทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันการซ้อมทรมานระดับภูมิภาค
3. จัดทำกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism - NPM)
4. การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสถานที่ควบคุมตัว
5. การขับเคลื่อนงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคล จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1) เรือนจำ 2) สถานีตำรวจ 3) ศูนย์ควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหา หรือศูนย์ซักถาม (พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) 4) สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 5) สถานกักตัวคนต่างด้าว 6) สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 7) โรงพยาบาลจิตเวช และ8 ) สถานสงเคราะห์ สถานพักฟื้น หรือฟื้นฟู เด็ก คนชรา คนพิการ หรือสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
เลื่อนขึ้นด้านบน