“นับเราไว้ด้วยคน” ข้อเรียกร้องการขับเคลื่อนสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในเอเชีย กสม. ไทย สะท้อน 11 แนวทางหลักการทำให้สิทธิเป็นจริง เสนอรื้อฟื้นวาระโลก “การติดตามการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง”

08/03/2567 35

          เมื่อวันที่ 3 - 6 มีนาคม 2567 ที่จังหวัดเชียงใหม่ นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมการประชุมเรียนรู้กรอบการปฏิบัติงานและจัดทำแผนปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในเอเชีย” ในกลไกสหประชาชาติ  โดยมีผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในเอเชีย และองค์กรพันธมิตรชนเผ่าพื้นเมือง กว่า 150 คน จาก 16 ประเทศ/เขตปกครอง ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เนปาล อินเดีย บังกลาเทศ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา ออสเตรเลีย สวีเดน และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วม ในการนี้ ผู้แทนกลไกสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ United Nations Permanent Forum on Indigenous Issues (UNPFII) Expert Mechanism on Rights of Indigenous Peoples (EMRIP) UN Voluntary Fund (UNV) และผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้วย
 
          ในช่วงหนึ่งของการแลกเปลี่ยน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจสอบกรณีร้องเรียนสิทธิเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำเสนอเนื้อหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย พร้อมข้อเสนอแนะ โดยเห็นว่า (1) การขับเคลื่อนสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกให้เป็นจริง ต้องอาศัยการหนุนเสริมจากกลไกต่าง ๆ ทั้งกรอบความร่วมมือในสหประชาชาติ ผู้รายงานพิเศษ กลไกผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการดำเนินงานภายในประเทศ อาทิ รัฐธรรมนูญ มติคณะรัฐมนตรี และรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่ตรวจสอบ และ (2) ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่า จะจำกัดการตีความความหมายของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติจากฐานเรื่องร้องเรียนที่ กสม. ได้รับ มีมากกว่า 20 เรื่องที่กล่าวถึงประเด็น “ชนเผ่าพื้นเมือง” โดยภาพรวมมีความเดือดร้อนด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน จากการประกาศขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 23 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 4 ล้านไร่ นอกจากนั้น ในบางส่วนก็ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยว และการทำเหมืองแร่ ในขณะที่ภาวะโลกร้อนด้านหนึ่งก็กลายเป็นนโยบายที่รัฐดำเนินการรักษาพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง ในทางปฏิบัติกลับส่งผลกระทบต่อชุมชนที่มีส่วนในการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว จนทำให้หลาย ๆ พื้นที่ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองนำ “การประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม” ซึ่งระบุไว้ในมติคณะรัฐมนตรี ปี 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวเลและกะเหรี่ยงมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อยืนยันวิถีวัฒนธรรมของชุมชนที่มีวิถีชีวิต อยู่และดูแลพื้นที่ทรัพยากร โดยใช้ภูมิปัญญาความรู้ที่สั่งสมมานาน และเป็นทางเลือกที่ควรนำมาใช้ในการปฏิบัติจริง เพิ่มเติมนอกจากการดูแลรักษาพื้นที่จากหน่วยงานของรัฐเท่านั้น
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวถึง ประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมากว่า 30 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชุมชนชาวเลในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน และสะท้อน 11 แนวทางหลักเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/ขบวนชุมชน “กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง” ได้แก่ (1) การมีกลไกการทำงานที่หลากหลายครอบคลุมกลุ่ม เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และอื่น ๆ (2) การมีกองทุนสนับสนุน (3) การมีกติการ่วม (4) การประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของตนเอง (5) การมีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจ รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอื่น ๆ (6) การสื่อสารสาธารณะ (7) การมีรายได้แบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (8 ) การมีเครือข่าย ระดับภูมิภาค – ระดับชาติ (9) การมีที่ปรึกษา นักพัฒนา นักวิชาการ และนักกฎหมาย (10) การมีแผนที่ทำร่วมกัน และสรุปร่วมกัน และ (11) การมีความต่อเนื่องในการสนับสนุน โดยเห็นควรให้รื้อฟื้นวาระโลกในสหประชาชาติ (UN Agenda) “การติดตามการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง” เพื่อทบทวน และสร้างความก้าวหน้า ยกระดับประเด็นสิทธิดังกล่าวให้เป็นจริง
 
          ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนไทยจากหลายภาคส่วนได้ร่วมแลกเปลี่ยน และนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการต่าง ๆ โดยในส่วนของประเทศไทย ในวันที่ 6 มีนาคม 2567 ได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง (กมธ.) นัดแรก ณ อาคารรัฐสภา กทม. โดยมีกรรมาธิการจำนวน 42 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 14 คน เป็นผู้แทนจากภาคประชาชนและชนเผ่าพื้นเมืองที่ร่วมเสนอกฏหมาย โดยถือเป็นการเริ่มต้นหารือและออกแบบกลไกและบทบาทของ กมธ. และทำความเข้าใจกรอบการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนากฎหมายดังกล่าว

เลื่อนขึ้นด้านบน