กสม. ร่วมเวทีสาธารณะ “เขื่อนโขงน้ำใส แต่(ไฟฟ้า)ไม่สะอาด” และลงพื้นที่สำรวจผลกระทบของระดับน้ำโขงและตะกอนน้ำโขงต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของประชาชนริมแม่น้ำโขง จ. เลย

08/03/2567 36

          เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 นางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมเวทีสาธารณะ “เขื่อนโขงน้ำใส แต่(ไฟฟ้า)ไม่สะอาด” จัดโดย กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ นายทรงศัก  สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน นักวิชาการและสื่อมวลชน ณ แพกลุ่มประมงพื้นบ้าน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
 
          ภายในเวทีได้มีการเสวนาถึงผลกระทบเขื่อนแม่น้ำโขงต่อระดับน้ำโขง ตะกอน วิถีเกษตร-ประมงและระบบนิเวศแม่น้ำโขง โดยผู้แทนชุมชนริมน้ำโขงในหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม จังหวัดเลย  อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและทำการเกษตรโดยใช้พื้นที่ริมแม่น้ำโขง โดยผู้แทนชุมชนได้สะท้อนผลกระทบทางนิเวศและวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นภายหลังจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตั้งแต่ต้นน้ำถึงท้ายน้ำไปในทางเดียวกัน ได้แก่ ปัญหาการปล่อยน้ำจากเขื่อนทำให้ระดับแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วัน โดยชาวบ้านไม่ได้รับการแจ้งเตือนส่งผลให้เกิดความเสียหายในพื้นที่การเกษตรริมน้ำทั้งพืชผลและที่ดินถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ เกิดความเสียหาย จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อีกทั้งพบว่าปลาพื้นถิ่นในพื้นที่กว่า 50 สายพันธุ์ จาก 113 สายพันธุ์ จับได้น้อยลง และในหลายพื้นที่ไม่พบปลาพื้นถิ่นเนื่องจากปัญหาระดับน้ำที่ผันผวนทำให้การวางไข่และการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติของปลาเปลี่ยนแปลง อีกทั้งพบว่าต้นไคร้ซึ่งเป็นพืชน้ำสำคัญของแม่น้ำโจวที่เป็นแหล่งอนุบาลปลาและช่วยลดความแรงของน้ำที่กัดเซาะหน้าดินนั้นหายไปจากพื้นที่ต่างๆ กว่าร้อยละ 80
 
          นอกจากนี้ในเวทียังมีการนำเสนอผลงานวิชาการไทบ้านในประเด็นปัญหาแม่น้ำโขงใส โดยการรวบรวมข้อมูลจากชุมชนริมน้ำโขง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำการวัดตะกอนดินธรรมชาติอันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง ซึ่งวัดความขุ่นของน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำถึงปลายน้ำพบว่าตะกอนหายไปกว่าร้อยละ 70 เนื่องจากถูกกักเก็บไว้โดยเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ภายหลังจากการดำเนินงานของเขื่อนไซยะบุรี เมื่อไม่มีตะกอนดินจึงทำให้น้ำดึงดินจากชายฝั่งไปละลายได้เร็วขึ้น เกิดการกัดเซาะชายฝั่งโดยพบว่าพื้นที่ชาวบ้านซึ่งมีโฉนดและเอกสารสิทธิ์ริมน้ำโขงหายไปจำนวนมาก ทั้งยังมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำและหอยซึ่งต้องใช้ตะกอนในการดำรงชีวิต ทำให้ปลาไม่สามารถหาอาหารได้ ทั้งนี้ ปรากฏการณ์แม่น้ำใสแม้จะทำให้ชาวบ้านจับปลาได้เร็วและมากขึ้นในช่วงแรก แต่ปลาจะหายและสูญพันธุ์ไปในระยะยาวเนื่องจากปลาขนาดเล็กจะถูกปลาขนาดใหญ่จับกินได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ปลาขนาดใหญ่ที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็ถูกผู้คนต่างพื้นที่ล่าอย่างง่ายดาย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของจำนวนการจับปลาที่เพิ่มขึ้นอาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะทำให้ปลาลดลง ซึ่งอาชีพประมงจะล่มสลายภายใน 5-10 ปี
 
          นอกจากนี้ ในเวทียังได้พูดถึงปัญหาสิทธิการได้รับการเยียวยาของชาวบ้านในพื้นที่ ปัญหาการเข้ามาทำประมงโดยผิดกฎหมายของคนนอกพื้นที่ซึ่งไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ เนื่องจากอยู่นอกอาณาเขตประเทศไทย และการรับฟังข้อมูลควรขยายผลไปสู่การพูดคุยถึงผลกระทบของวิถีชีวิตของพี่น้องเครือข่ายประชาชนชาวลาวในพื้นที่ริมโขงที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกได้มากนัก ทั้งนี้ผู้แทนชุมชนและนักวิชาการในเวทียังได้มีข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลต่อแผนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีกหลายพื้นที่ทั้งเขื่อนสานะคาม เขื่อนปากแบง และเขื่อนภูงอย ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบทางนิเวศและส่งผลเสียต่อวิถีชีวิตคนริมโขงยิ่งขึ้นไปอีก
 
          ต่อมานายทรงศัก  สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ได้นำเสนอข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อรัฐบาล ในการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงในอนาคต ทั้งเขื่อนสานะคาม และเขื่อนปากแบง คือการเสนอให้ชะลอหรือไม่สร้างเขื่อน โดยเสนอให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นทางเลือกหลักในการผลิตไฟฟ้าแทนการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน และมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการใด ๆ ต้องศึกษาตัวเลขผลกระทบให้ชัดเจนว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการสร้างแหล่งพลังงาน นอกจากนี้ปัญหาการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงยังมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งเป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาลในประเทศพื้นที่แม่น้ำโขง ซึ่งพบว่าระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) ของประเทศผู้สร้างเขื่อนนั้นไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม และไม่ได้ใส่ใจต่อข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และไม่รับฟังเสียงของผู้ทักท้วงต่อผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกระบวนการดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการ MRC รวมถึงหน่วยงานคณะกรรมการของไทย ควรยึดหลักการแม่น้ำนานาชาติ โดยใช้โมเดลของแม่น้ำดานูบซึ่งให้คำนึงถึงองค์รวมของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช้หลักการเป็นเจ้าของแม่น้ำที่ยึดเพียงการไหลผ่านประเทศเขตแดนนั้นเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงปัญหาแหล่งเงินในการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบแก่ชุมชน ซึ่งควรต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัดส่วนผลกำไรของบริษัทผลิตและขายไฟฟ้าเพื่อให้สามารถเยียวยาได้อย่างครอบคลุมและเป็นธรรม
          นางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอประเด็นกระบวนการตรวจสอบผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในหลายแห่งว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะมุ่งเน้นดำเนินกระบวนการตรวจสอบทั้งระบบ โดยเฉพาะในประเด็นของความคุ้มค่าในการดำเนินงาน ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายหรือกระบวนการมักไม่ได้ศึกษาและสำรวจถึงผลอื่นนอกจากการประเมินตัวเลขจากเม็ดเงินการลงทุนเพียงอย่างเดียว ทั้งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่แท้จริงในพื้นที่ และไม่มีการนำผลกระทบทางด้านวิถีชีวิติ สังคมวัฒนธรรมและด้านอื่น ๆ มาประเมินเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจด้วย  ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน ซึ่งรัฐควรต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่าประเทศไทยมีความจำเป็นมากเพียงใดในการแสวงหาพลังงาน โดยการซื้อไฟฟ้า หรือการลงทุนเพื่อสำรองพลังงานไว้ ซึ่งเกินกว่าความต้องการหรือไม่
 
          ทั้งนี้ กสม.จะเน้นให้เกิดพื้นที่การมีส่วนร่วม การเข้าถึงข้อมูล และมองอย่างรอบด้าน โดยมีแผนงานเพื่อให้เกิดการไต่สวนสาธารณะ (Public Inquiry) เรื่องแผนการพัฒนาพลังงาน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนและคนไทยเห็นภาพที่ชัดเจนของการดำเนินการตามแผนพัฒนาพลังงานต่อไป โดยที่ผ่านมา กสม.เห็นว่า กระบวนการลงนามซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มักเกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้งไม่มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ประชาชนมองไม่เห็นภาพที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันผลกระทบ และการเยียวยา ที่เป็นแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องให้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเข้ามารับผิดชอบโดยตรง โดยเฉพาะในประเด็นเขื่อนสานะคามซึ่ง กสม. ได้รับคำร้องไว้ตรวจสอบนั้น กสม. จะมีแผนดำเนินการจัดเวทีอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อให้ข้อมูลและเปิดพื้นที่ส่งเสริมความรู้ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้คนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ และจะมีการเชิญหน่วยงานและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาร่วมชี้แจงข้อมูล และหาแนวทางที่ชัดเจนร่วมกันต่อไป โดยมีแผนดำเนินการในจังหวัดเลยในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567
 
          ต่อมาในช่วงบ่าย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และผู้แทนชาวบ้านริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัด ได้เดินทางลงพื้นที่ ณ อำเภอปากชม จังหวัดเลย และล่องเรือไปตามเกาะแก่งลำน้ำโขง เพื่อสำรวจความเสียหายของปรากฏการณ์น้ำใสไร้ตะกอน ที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงหน้าแล้งของแม่น้ำโขง
 
          ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จากการเข้าร่วมเวทีสาธารณะและการลงพื้นที่ดังกล่าว กสม. จะได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบในประเด็นการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลเพื่อจัดทำสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ตามหน้าที่และภารกิจของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน