กสม. ปรีดา ลงพื้นที่ จ.ระนอง สังเกตการณ์การจัดเก็บสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์ความเป็นคนไทยตามหลักสายโลหิต – ประชุมหารือแนวทางการแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น

22/12/2566 28

                เมื่อวันที่ 20 – 21 ธันวาคม 2566 นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดระนองเพื่อสังเกตการณ์ รับฟังปัญหา หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ดังนี้

               วันที่ 20 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่หอประชุมจังหวัดระนอง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เข้าสังเกตการณ์การจัดเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ตามโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรร่วมกับโครงการนำความยุติธรรมเข้าหาประชาชน จัดโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เพื่อนำไปตรวจพิสูจน์เป็นหลักฐาน ประกอบในการพิจารณาเพื่อให้ประชาชนผู้ที่มีสัญชาติไทยได้รับสถานะทางทะเบียน

                จากนั้น เวลา 15.00 น. นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  และภาคีเครือข่ายได้เดินทางไปยังหมู่บ้านหินช้าง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนจำนวน 3 ราย และพบปะสมาชิกเครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดพังงา ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหากลุ่มคนไทยพลัดถิ่น

                ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะเจ้าหน้าที่ได้จัดกิจกรรมออกบูธคลินิกสิทธิมนุษยชนเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ประสบปัญหาด้านสิทธิและสถานะบุคคล จำนวน 8 เรื่อง โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อพิจารณาประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป

                 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดระนอง ชั้น 2 นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เข้าร่วมประชุมรับฟังปัญหาและหารือแนวทางการแก้ปัญหากรณีคนไทยพลัดถิ่น โดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้แทนจากภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย  สำหรับการประชุมดังกล่าวได้มีการหารือแนวทางร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และมีการเสนอให้ดำเนินการในลักษณะบูรณาการการทำงานร่วมกันหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคประชาสังคม   เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ได้รับการลงรายการสัญชาติไทย และแก้ไขทะเบียนประวัติให้ถูกต้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน