กรณีคณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (SCA ) ภายใต้คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ICC) เสนอลดระดับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย จากสถานะ

16/01/2558 124

 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนและมีการเผยแพร่รายงานผลการประเมินสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย (กสม.) โดยคณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Sub-Committee on Accreditation หรือ SCA ) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือ ICC) กรณี SCA ได้ทำข้อเสนอให้ลดระดับของ กสม. จากสถานะ A เป็น B  ต่อคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือ ICC) เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ นั้น
                                สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.)  ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า  คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือ ICC) ได้เลื่อนการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวไปเป็นระยะเวลาอีกหนึ่งปีโดยจะเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า กสม. มีการดำเนินการสนองตอบหรือมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใดต่อข้อห่วงกังวลของ ICC–SCA ดังนั้น กสม. จึงยังคงอยู่ในสถานะ A  และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ ICC และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคได้ตามปกติ  อย่างไรก็ตาม สำนักงาน  กสม. มีความเห็นต่อประเด็นข้อห่วงใยของ ICC- SCA  ที่จะส่งผลต่อการพิจารณาลดสถานะ กสม.  ดังนี้
                                ๑. กระบวนการสรรหา และแต่งตั้ง กสม.
                                กรณีที่ ICC – SCA ได้แสดงความเห็นต่อกรณีการสรรหา คัดเลือก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหายังไม่สามารถประกันได้ถึงความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม  ทั้งยังไม่มีบรรทัดฐานชัดเจนในการประเมินคุณสมบัติของผู้สมัครที่เหมาะสม 
                                กสม. ตระหนักถึงข้อห่วงใยดังกล่าว  แต่กรณีนี้จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ กสม. อย่างไรก็ตาม  เพื่อให้การสรรหา และแต่งตั้ง กสม.สอดคล้องกับหลักการปารีส  กสม.ได้จัดทำข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการสรรหา กสม. ไปแล้ว   ทั้งนี้  กสม. ขอเน้นย้ำและเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาให้มีความหลากหลายทางวิชาชีพ  รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา  คุณสมบัติของ กสม. ที่มีประสบการณ์การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน  และนำไปสู่การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป  
                                ๒. การสนองตอบต่อสถานการณ์ที่กระทบสิทธิมนุษยชนให้ทันท่วงที
                                กรณีที่ ICC – SCA ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการสนองตอบต่อสถานการณ์ที่กระทบสิทธิมนุษยชนให้ทันท่วงที โดยยกตัวอย่าง เหตุการณ์การประท้วงทางการเมืองและการปราบปรามประชาชน ในปี ๒๕๕๓ ส่งผลทำให้มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ กสม.ใช้เวลาในการ จัดทำรายงานล่าช้า นั้น
                                สำนักงาน กสม.ขอชี้แจงว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยรวบรวมพยานเอกสาร พยานแวดล้อม รวมถึงรับฟังพยานบุคคล  อย่างครบถ้วนและรอบด้าน  เพื่อพิจารณาจัดทำรายงานการตรวจสอบและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  แถลงการณ์ต่อสาธารณะเพื่อแสดงท่าทีของ กสม. เกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง  เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการยับยั้งต่อสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน  
                                ๓. ความเป็นอิสระและความเป็นกลาง
                                กรณีที่ ICC – SCA ได้แสดงความห่วงกังวลว่าเจ้าหน้าที่ของ กสม. ที่แสดงออกต่อสาธารณะถึงการฝักใฝ่ทางการเมืองขณะที่ทำหน้าที่ นั้น  กสม. ได้เน้นย้ำให้ เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม. ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง โดยยึดหลักความเป็นกลางเช่นเดียวกับหลักการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีความเห็นแตกต่างกันเมืองภายในประเทศ  จำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางอย่างเข้มงวด
                                อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ กสม. ย่อมถือเป็นสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคล หากมิได้นำตำแหน่งหน้าที่และชื่อขององค์กรไปกล่าวอ้าง  ย่อมสามารถทำได้ในฐานะพลเมือง
                               ๔. กระบวนการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                                กรณีที่ ICC- SCA สอบถามความคืบหน้าต่อกระบวนการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม. ได้ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.... (ฉบับใหม่) ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของ กสม. ตามหลักการปารีส ตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑  โดยยืนยันต่อรัฐบาลทุกรัฐบาลไปแล้ว  แต่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ถูกจัดให้รอการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอด ถึงแม้ กสม.ได้ติดตาม เร่งรัดเพื่อให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  หลังจากการรัฐประหารได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....(ฉบับใหม่)  สมควรรอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เสียก่อน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.เป็นไปตามหลักการปารีส  ซึ่งระบุให้มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน  จึงขอเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเร่งนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาพิจารณาโดยเร็ว
                                ๕. ความคุ้มกันและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
                                กรณีที่ ICC- SCA ยังคงมีข้อห่วงกังวลว่าพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มกันสมาชิกจากการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายในกรณีการทำหน้าที่โดยสุจริตและเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่  เพื่อป้องกันมิให้การปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจากภายนอก  หรือการถูกข่มขู่ที่จะมีการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อสมาชิก  ดังนั้น  จึงมีความเห็นว่าพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรจะมีบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน  พร้อมกับผลักดันให้ กสม. รณรงค์ในเรื่องนี้ต่อไป
                                สำนักงาน กสม. ขอเรียนว่า ในร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ได้เสนอสภานิติบัญญัติไปแล้ว  จะมีบทบัญญัติคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.  ว่าหากได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตแล้ว ย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่งและทางปกครองใดๆ
                                กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  และรัฐบาลจะได้พิจารณาดำเนินการตามข้อห่วงใยของ ICC – SCA ในส่วนที่เกี่ยวข้องดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งนี้ในส่วนของ กสม. และสำนักงาน กสม. เอง ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาการและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ในทุกมิติ  และทุกบริบทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง  อันเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลต่อไป


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  

16/01/2558

เลื่อนขึ้นด้านบน