ข่าวแจก แนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

21/04/2558 124

เมื่อวันที่ ๒๑   เมษายน  ๒๕๕๘  เวลา ๘.๓๐ – ๑๓.๐๐ น. ณ ห้องกมลทิพย์ ๑ โรงแรมเดอะสุโกศล โฮเทล เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  สำนักจุฬาราชมนตรี  สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพมหาวิทยาลัยพายัพ  มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN WOMEN) กระทรวงต่างประเทศ และการค้าและพัฒนาประเทศแคนาดา(DFATD, Canada)  ได้ดำเนินโครงการสัมมนา เรื่องแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการนำหลักสิทธิมนุษยชนในอิสลามเกี่ยวกับผู้หญิง และอนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบของสหประชาชาติ มาปรับใช้เพื่อปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  และเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน
การปรับปรุงแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
        ศ.ดร อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การทำงานเรื่องผู้หญิงมุสลิมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในครอบครัวมีอยู่ในระดับสูง การเข้าใจเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบต่างๆและเข้าใจถึงความซับซ้อนของปัญหาจะทำให้แก้ไขปัญหาได้มากขึ้น จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับผู้นำศาสนาในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า  หากพบการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต้องกล้าที่จะตั้งคำถามต่อผู้เกี่ยวข้อง จึงหวังว่าการตั้งคำถามกับผู้นำศาสนาเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือการตีความทางศาสนาบางประการเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์การเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงงานด้านการอำนวยความยุติธรรม  ทั้งนี้ กสม. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยมีหน้าที่รับผิดชอบติดตามการดำเนินการไปสู่แนวปฏิบัติที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของหญิงมุสลิมชายแดนใต้
        อย่างไรก็ตามอีกภารกิจหลักที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรภาคีได้ตระหนักถึงสถานการณ์ของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เกิดในครอบครัว และในชุมชน  จึงได้กันจัดโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักในสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิมแก่องค์กรผู้หญิงมุสลิม องค์กรทางศาสนาและบุคลากรของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง  โดยมีการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. และองค์กรผู้หญิงมุสลิมและเครือข่าย จำนวน ๒ รุ่น ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ เพื่อเพิ่มความรู้และมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มเป้าหมายทั้ง ๒ กลุ่มเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงมุสลิมในประเทศไทยอันเนื่องมาจากฐานคิดเรื่องเพศภาวะ กฎหมายไทยในการคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรง  มิติเชิงบวกของหลักศาสนาอิสลามในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมาตรฐานสากลต่างๆในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง  และความร่วมมือของกลุ่มประเทศอิสลามเรื่องผู้หญิง  ซึ่งผู้แทนจากองค์กรผู้หญิงมุสลิมได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
        จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘  มีการจัดประชุมผู้หญิงเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๑๕๗ คน ที่จังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกับกิจกรรมที่ ๑ โดยมีการนำเสนอเรื่องเล่าของผู้หญิงที่เพรียกหาความยุติธรรมจากการถูกกระทำรุนแรงโดยในบุคคลครอบครัว ชุมชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้มีโอกาสในการพิจารณาข้อเสนอของผู้เข้าร่วมการอบรมจากกิจกรรมที่ ๑ และระดมความเห็นเพิ่มเติมและสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาความรุนแรงข้างต้นที่ผู้หญิงเผชิญแก่กลไกยุติธรรมแต่ละระดับ
        หลังจากนั้น ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘   มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานสหวิชาชีพและหน่วยงานของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันจัดทำและให้ข้อเสนอต่อแนวปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  
        ทั้งนี้ กสม.และองค์กรภาคีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะนำเสนอในวันนี้  จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการส่งเสริมให้ผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 

21/04/2558

เลื่อนขึ้นด้านบน