ข่าวแจก ปัญหาโทษประหารชีวิต

23/05/2559 113

ข่าวแจก
ปัญหาโทษประหารชีวิต


          โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษผู้กระทำผิดที่มีกำหนดโทษสูงสุดของสังคมมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ในอดีตเป็นการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณเพื่อแก้แค้นทดแทนต่อผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ รวมทั้งเพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้งและการตัดโอกาสในการกระทำความผิด เพื่อเป็นการตอบสนองต่อรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นธรรมในสังคม แต่ในปัจจุบันวัตถุประสงค์ของการลงโทษได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระความทำผิดเป็นสำคัญ
          กระนั้นก็ตาม ทุกครั้งที่มีคดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้น สังคมไทยมักจะถกเถียงกันว่า ควรจะมีโทษประหารชีวิตหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ ความเห็นแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย
          ฝ่ายแรกเห็นว่า โทษประหารชีวิตยังจำเป็นต้องคงไว้ หากคดีนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ลงโทษประหารชีวิต ก็เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายให้ลงโทษประหารชีวิต โดยให้เหตุผลว่า มาตรการนี้เป็นวิธีการที่จะสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชน และสร้างสังคมให้สงบสุข
          ฝ่ายหลังไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิต หากกฎหมายยังมีโทษประหารชีวิต ก็ต้องการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยให้เหตุผลว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ เป็นการสร้างความทรมานต่อร่างกายและจิตใจ ขัดกับหลักการพื้นฐานของศาสนา และไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมลดลง
          การยกเลิกโทษประหารชีวิตจะเป็นไปได้หรือไม่ กระแสสังคมมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจหากสังคมเห็นว่า ความผิดเกิดจากการกระทำ ควรหยุดที่การกระทำนั้น ไม่ใช่หยุดชีวิตของผู้กระทำความผิด (End Crime, Not Life) การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็คงทำได้ไม่ยาก แต่หากความกังวลในความปลอดภัยของชีวิตมีความสำคัญมากกว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็คงจะเกิดขึ้นได้ยาก
          ทั้งการยกเลิกโทษประหารชีวิตต้องใช้เวลาในการปรับทัศนคติของผู้คนในสังคม และเตรียมความพร้อมทั้งทางกฎหมาย การบริหารกระบวนการยุติธรรม และระบบราชทัณฑ์ รวมทั้งระบบที่จะสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้คนในสังคม ซึ่งหัวหน้าคณะผู้แทนไทย แถลงผลการเข้าร่วมประชุมและรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และรับข้อเสนอแนะของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตกลับมาพิจารณา ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๖๑) ของรัฐบาล                                            

                                                                                                 

 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙  
 

23/05/2559

เลื่อนขึ้นด้านบน