ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... และการตรากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

16/06/2559 109

 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าว “ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... และการตรากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง” ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายละเอียดตามข่าวแจก  ดังนี้


 ข่าวแจก
เรื่อง ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... และการตรากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

          ด้วยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ตัวแทนประชาชน จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สระบุรี เพชรบูรณ์ และกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... เนื่องจากเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติแร่ฯ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและสิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติแร่ฯ ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปก่อน เพื่อจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ประกอบกับ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่และการให้สัมปทานเหมืองแร่ ในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา จำนวนมากกว่า ๔๘ เรื่อง

          กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ศึกษา สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน และจัดการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ องค์กรเอกชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนพยานผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... มีบทบัญญัติบางมาตราที่มีสาระสำคัญกระทบต่อสิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ยังคงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการกำหนดนโยบายแร่และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบการเข้าทำประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรเหมืองแร่ยังขาดความชัดเจนโดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาอนุญาตของรัฐมนตรีและอธิบดีที่เกี่ยวข้อง แม้ร่างบทบัญญัติหลายมาตราได้กำหนดห้ามมิให้ทำประโยชน์ในพื้นที่สงวนหวงห้ามทั้งที่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ แต่ก็ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้อย่างกว้าง จึงไม่เป็นหลักประกันการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้กำหนดให้มีระบบการพิจารณาอนุญาตที่ค่อนข้างเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งผิดหลักการ เพราะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) อันอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนและสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอาจส่งผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชน

          กสม. ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของชุมชนจึงเห็นสมควรมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

          ๑. ควรปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

          ๒. เร่งรัดการตราพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ พ.ศ. .... และกฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR)

          ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีอาจพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ดังกล่าวที่อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกมาก่อนก็ได้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน หรือหากสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาต่อไป ก็ขอให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรายงานผลการพิจารณาเพื่อเสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายไปประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย

 

 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙
 

16/06/2559

เลื่อนขึ้นด้านบน