ข่าวแจก แนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

05/08/2559 201

ข่าวแจก
แนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล


               เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๙  นายแพทย์สุรเชษฐ์  สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลหลากหลายทางเพศ และการสาธารณสุข ได้รับเชิญจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่อง "มุมมองต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ"  ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓ – ๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลนอกเรือนจำซึ่งผู้ต้องขังมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ
               นายแพทย์สุรเชษฐ์  กล่าวว่า  สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องจำเป็นต่อสังคมโลก และมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทุกภาคส่วนมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม อันเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศ แม้ผู้ต้องหาในเรือนจำจะเป็นผู้กระทำความผิดที่อยู่ระหว่างการถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพบางประการอันเนื่องมาจากการกระทำความผิด แต่ก็ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความมีมนุษยธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป และย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไปแม้ผู้ต้องขังเป็นชาวต่างชาติก็ตาม
               ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังในเรือนจำให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องอัน ได้แก่  กระทรวงสาธารณสุขและกรมราชทัณฑ์ควรตระหนักและมีการดำเนินการ  ดังนี้
               ๑. กระทรวงสาธารณสุข
                     ๑.๑ โรงพยาบาลในเขตที่ตั้งของเรือนจำควรจัดให้มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้ามาดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างเพียงพอ เช่น จัดแพทย์เฉพาะทางเข้ามาตรวจรักษาเป็นครั้งคราว หรือจัดแบ่งเป็นวัสดุ เวชภัณฑ์ หรือการให้บริการด้านอื่นๆ หากโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ใดไม่มีศักยภาพหรือกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอในการให้บริการสุขภาพแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขควรจัดอบรมให้ความรู้เบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่ในเรือนจำเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณสุข
                     ๑.๒ โรงพยาบาลในเขตที่ตั้งของเรือนจำต้องรับตัวผู้ต้องขังเข้ารับการรักษาพยาบาล และควรประสานงานกับกรมราชทัณฑ์ในการจัดห้องไว้สำหรับผู้ต้องขังที่ถูกส่งต่อมาจากเรือนจำและสถานที่สำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ให้มีลักษณะเหมาะสมกับการควบคุมผู้ต้องขังไม่ให้หลบหนี
                 ๒. กรมราชทัณฑ์
                     ๒.๑ ควรมีการจัดการและการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งผู้ต้องขังไปรับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล โดยให้มีช่องทางพิเศษ เพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในการควบคุม
                     ๒.๒ เรือนจำควรมีการจัดระบบบริการรักษาพยาบาล กรณีมีผู้ต้องขังเจ็บป่วยฉุกเฉินตลอด ๒๔ ชั่วโมง
                     ๒.๓ ควรมีการคัดกรองโรคติดต่อในเรือนจำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เช่น ผู้ต้องขังที่เป็นโรคเรื้อรัง รวมทั้งให้มีจัดการดูแลด้านสุขภาพจิตหรือจิตเวชของผู้ต้องขังและให้ผู้ต้องขังดังกล่าวได้รับยาและเวชภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
                     ๒.๔ ควรมีการจัดทำระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เชื่อมต่อระหว่างสถานพยาบาลและเรือนจำกรณีมีผู้ต้องขังที่ต้องรับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์เฉพาะทาง
                     ๒.๕ ควรมีการเชื่อมฐานข้อมูลของผู้ต้องขังกับฐานข้อมูลของ สปสช. เพื่อโอนย้ายสิทธิ
การรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังในเรือนจำ จากภูมิลำเนาเดิมไปยังโรงพยาบาลในเขตที่ตั้งของเรือนจำ  
               ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำจะถูกนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิให้กับผู้ต้องขังได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างมีมาตรฐาน


 
 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
๔ สิงหาคม ๒๕๕๙
 

05/08/2559

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน