ข่าวแจก การดำเนินคดีแก่พลเรือนในศาลทหาร

20/09/2559 109

ข่าวแจก
เรื่อง การดำเนินคดีแก่พลเรือนในศาลทหาร
----------------------------------------------------


          ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดให้ความผิดบางประเภทที่พลเรือนเป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารเมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึก ประกาศ คสช.ดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันอีกต่อไป จึงเป็นการถูกต้องที่หัวหน้า คสช.จะได้ออกคำสั่งที่ ๕๕/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๙ กำหนดให้การกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือน แต่โดยที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๕๕/๒๕๕๙ ไม่มีบทเฉพาะกาล จึงอาจมีปัญหาการดำเนินคดีแก่พลเรือนในศาลทหารหลายประการ ซึ่งอาจต้องอาศัยกลไกของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการแก้ไขปัญหาต่อไป--------------------------------------------------------------------------
               รายละเอียด
          คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และออกประกาศฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ฉบับที่ ๔๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กำหนดให้ความผิดบางประเภทที่พลเรือนเป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึก
          คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้ให้การรับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของชนชาวไทยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตาม  อันรวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ โดยรัฐภาคีมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ ในการส่งเสริม เคารพ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีรัฐภาคีอาจมีเหตุผลที่จะเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีได้  ทั้งนี้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๔ วรรค ๑
          คสช. ได้ออกประกาศและคำสั่งต่างๆ  ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศจำนวนหลายฉบับ ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ที่กำหนดให้ความผิดบางประเภทที่พลเรือนเป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารด้วย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เนื่องจากประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉินที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว ดังนั้น ประกาศและคำสั่งของ คสช. ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นมาตรการพิเศษที่ผู้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในขณะนั้นได้นำมาใช้เพื่อจัดการกับสถานการณ์ของประเทศที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งย่อมกระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปจนกระทั่งสถานการณ์ความฉุกเฉินของประเทศได้คลี่คลายลงแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐ (คสช.) ที่จะต้องพิจารณาว่า มาตรการพิเศษที่ คสช. ได้ประกาศหรือมีคำสั่งไว้นั้น ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาบังคับใช้อีกต่อไปหรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘  ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกตามประกาศของ คสช. กรณีจึงย่อมแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้นมิได้อยู่ในภาวะฉุกเฉินอีกต่อไป ดังนั้น การที่ คสช. ยังคงใช้มาตรการพิเศษ โดยให้ประกาศหรือคำสั่ง ซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อใช้ในสถานการณ์ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกยังมีผลบังคับใช้อยู่ ทั้งที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว จึงถือเป็นการใช้มาตรการพิเศษที่ไม่มีความเหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนตามสถานการณ์ และ คสช. ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลเพื่อเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศได้อีก
          สำหรับประกาศ คสช. ที่กำหนดให้ความผิดบางประเภทที่พลเรือนเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารนั้น ถือเป็นมาตรการพิเศษหนึ่งที่ คสช. นำมาใช้โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจัดการกับสถานการณ์ของประเทศในระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึก  อีกทั้งหัวหน้า คสช. ได้มีคำสั่งที่ ๓/๒๕๕๘ เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ออกมาใชบังคับ โดยกำหนดมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ด้วยการให้อำนาจข้าราชการทหารปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย โดยให้มีอำนาจต่างๆตามกฎหมายเฉพาะอีกหลายประการ ทั้งยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยให้มีโทษลดลงจากเดิม กรณีจึงย่อมแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ เป็นมาตรการและกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้แทนกฎอัยการศึก และมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ดังกล่าว ย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ที่กำหนดให้ความผิดบางประเภทที่พลเรือนเป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ให้สิ้นผลไปโดยปริยาย
          นอกจากนี้ การกำหนดให้นำคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เข้าสู่การพิจารณาของศาลทหารนั้น ยังขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เนื่องจากกระบวนพิจารณาพิพากษาในศาลทหารมีลักษณะรวบรัดขั้นตอน เป็นเหตุให้คู่ความในคดีไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้คดีอย่างเพียงพอเมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับกระบวนการพิจารณาพิพากษาในศาลยุติธรรมปกติ อีกทั้งการกำหนดให้นำคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ยังขัดต่อหลักความเป็นอิสระในการพิจารณาอรรถคดี ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๑๔  เนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และไม่ได้แยกขาดจากอำนาจฝ่ายบริหาร เนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม โดยตุลาการศาลทหารยังคงเป็นข้าราชการภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนตุลาการศาลทหารตามสายการบังคับบัญชา ยกเว้นตุลาการศาลทหารสูงสุดและตุลาการศาลทหารกลางซึ่งต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งหรือถอดถอน                                        
          ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม.จึงมีความเห็นว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ฉบับที่ ๔๓/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ ที่กำหนดให้ความผิดบางประเภทที่พลเรือนเป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับสถานการณ์ของประเทศในภาวะปัจจุบันได้อีกต่อไป และการที่ประเทศไทยยังคงไว้ซึ่งการให้อำนาจศาลทหารดังกล่าว อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการที่พลเรือนจะไม่ได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและเป็นธรรม ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอาจเป็นเหตุให้กระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับจากสหประชาชาติและนานาชาติได้ในระยะยาว 
          อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่า หัวหน้า คสช. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๕๕/๒๕๕๙ เรื่อง  การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๙ กำหนดให้บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗  และ ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม กสม. เห็นว่า เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับความเห็นของ กสม. ดังกล่าวข้างต้น ที่เห็นควรให้มีการนำผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งเป็นพลเรือนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมตามปกติ อันจะทำให้พลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พันธกรณีระหว่างประเทศ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้รับรองไว้ และสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
          อนึ่ง กสม.มีข้อสังเกตว่า ภายหลังจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๕๕/๒๕๕๙ ซึ่งไม่ปรากฏบทเฉพาะกาล มีผลใช้บังคับในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๙ แล้ว อาจมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ เช่น พลเรือนซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ ก่อนวันที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๕๕/๒๕๕๙ จะมีผลใช้บังคับ โดยยังไม่มีการดำเนินคดีแก่พลเรือนนั้น หากต่อมามีการจับกุมพลเรือนนั้นนั้นมาดำเนินคดี จะดำเนินคดีแก่พลเรือนนั้นที่ศาลทหารหรือศาลยุติธรรม หรือคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประกาศ คสช. ดังกล่าว ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหาร โต้แย้งอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร และประสงค์จะยื่นคำขอให้โอนคดีซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารไปยังศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือน มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ศาลยุติธรรมจะสามารถรับโอนคดีจากศาลทหารในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่เพียงใด เนื่องจากพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ เพียงแต่บัญญัติในเรื่องของการโอนคดีหรือส่งผู้ต้องหาไปดำเนินคดีระหว่างศาลทหารด้วยกันเท่านั้น  รวมทั้งมีปัญหาด้วยว่าภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ แล้ว ศาลทหารในเวลาไม่ปกติจะยังคงมีอำนาจพิจารณาคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ กรณีดังกล่าวนี้อาจต้องอาศัยกลไกของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการแก้ไขปัญหาต่อไป จึงเห็นควรแจ้งให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป


 
นายวัส ติงสมิตร
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ 
 

20/09/2559

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน