กสม.สุภัทรา เข้าร่วมเวทีเสวนา เรื่อง การจ้างงานแรงงานที่มั่นคงและยั่งยืนต่อแรงงานข้ามชาติในอนาคต เนื่องด้วยวันแรงงานข้ามชาติสากล ประจำปี 2566

18/12/2566 30

                เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30-12.00น. ที่วัดเทพนรรัตน์ ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมเวทีเสวนา เรื่อง การจ้างงานแรงงานที่มั่นคงและยั่งยืนต่อแรงงานข้ามชาติในอนาคต เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ประจำปี 2566 จัดโดย เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.) Labour Rights Foundation สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และมูลนิธิรักษ์ไทย ในการเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ ผู้แทนสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
                โดยช่วงต้นการเสวนา ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ ได้นำเสนอปัญหาอุปสรรคการทำงานในประเทศไทยว่า ปัจจุบันด้วยสภาวะความไม่สงบของประเทศเมียนมาร์ แรงงานข้ามชาติที่จะต้องเดินทางกลับไปทำเอกสารการจ้างงานจะมีความยากลำบากและสถานประกอบการเดิมมักจะไม่การันตีการจ้างงานครั้งต่อไปหากแรงงานต้องเดินทางกลับประเทศ การเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เอกสารจำนวนมาก ซึ่งแรงงานไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองจึงต้องใช้ระบบนายหน้าทำให้เสียเงินเป็นจำนวนมาก ปัญหาการขอใบรับรองการเกิดที่ต้องมีคนไทยรับรอง รวมทั้งนายจ้างไม่ให้อ้างอิงที่อยู่ ทำให้แจ้งเกิดเด็กไม่ได้ อีกทั้งค่าแรงที่ต่ำกว่าความเป็นจริงไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ และต่ำกว่าเพื่อนร่วมงานสัญชาติอื่นที่ทำงานประเภทเดียวกัน กรณีหากเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่กล้าเรียกร้องกลัวนายจ้างจะเลิกจ้าง การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ แรงงานมักจะไม่กล้าเรียกร้องสิทธิประโยชน์หรือแจ้งความ เพราะยังมีแรงงานบางส่วนที่มีเอกสารไม่ครบกลัวจะถูกจับกุมและส่งตัวกลับ และยังมีสถานการณ์การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 
                กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนาว่า มีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยครั้งใหญ่เมื่อปี 2547 เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามกระบวนการการค้ามนุษย์ ต่อมาในรัฐบาลแต่ล่ะสมัยจนถึงปัจจุบันได้มีการกำหนดนโยบาย ประกาศ แนวทาง วิธีการ ระยะเวลา การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่มีขั้นตอนมากขึ้น ส่งผลทำให้มีแรงงานบางส่วนหายออกจากระบบการขึ้นทะเบียนการจ้างงานและทำให้ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีฐานข้อมูลตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่ตรงกับความเป็นจริง ข้อเสนอแนะในการจัดการคือ การเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติตามความเป็นจริงที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากสภาพปัญหาปัจจุบันทั่วโลกและภูมิภาคอาเซียนมีการเคลื่อนย้าย/โยกย้าย “ถิ่นฐาน” อยู่ตลอดเวลา “ทั้งภายในและภายนอกประเทศ” รัฐบาลต้องมีนโยบายเรื่องการจ้างงานแรงงานข้ามชาติระยะยาว ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาผ่านการออก มติ ครม. ประเทศไทยต้องนำข้อเสนอแนะองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรมไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาใช้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กำลังจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 , 87 และจะเสนอให้ กสม. มีข้อเสนอให้รัฐบาลเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 1990 (ICRMW) เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองแรงงาน การกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำควรจะต้องเท่ากันทุกจังหวัด การจัดบริการและการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยการเร่งผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 5 ให้ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ทั้งนี้ กสม. ได้นำสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะที่ได้จากเวทีนี้ไปบรรจุในรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีที่จะเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยาวและเป็นระบบต่อไป จากนั้นในช่วงท้ายของเวทีเสวนา ได้มีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ประจำปี 2566
 
                อนึ่ง องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี เป็น“วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) ซึ่งตรงกับวันที่จัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 1990 (ICRMW) เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

เลื่อนขึ้นด้านบน