ข่าวแจก กสม. ชื่นชมการยกเลิกคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่จะต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ

12/11/2559 110

ข่าวแจก
กสม. ชื่นชมการยกเลิกคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่จะต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ
 

          ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ ๖๗/๒๕๕๙ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ยกเลิกคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่จะต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ หรือจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ นั้น
          นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งรับผิดชอบในการพิจารณาพระราชบัญญัติฉบับนี้ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า การกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่จะต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ หรือจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการทำงานของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ประกอบอาชีพอยู่ก่อนพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ ใช้บังคับและไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว โดย กสม. พิจารณาเห็นว่า ตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การกำหนดคุณสมบัติสำหรับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอาชีพใดก็ตาม คุณสมบัติที่กำหนดนั้นต้องจำเป็นหรือเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับลักษณะงานที่ปฏิบัติหน้าที่นั้น (Inherent Requirement Exception) มิฉะนั้น อาจเป็นการเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งในกรณีการกำหนดคุณวุฒิการศึกษาของพนักงานรักษาความปลอดภัยนั้น กสม. เห็นว่าคุณสมบัติด้านการศึกษามิได้เป็นหลักประกันว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับจะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยมีสำนึกความรับผิดชอบแต่อย่างใด จึงขอแสดงความขอบคุณที่ได้มีการยกเลิกคุณสมบัติดังกล่าว
          นายแพทย์สุรเชษฐ์ฯ กล่าวด้วยว่า บทบาทหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยนั้นมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้น พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดมาตรฐานของธุรกิจรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัยและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานรักษาความปลอดภัย จึงควรครอบคลุมถึงผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัยทุกประเภท ซึ่งปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ไม่ผ่านบริษัทธุรกิจรักษาความปลอดภัย รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานของรัฐ
          นอกจากนี้ กฎหมายได้ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยมีอำนาจหน้าที่ เช่น ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการจับกุมผู้กระทำความผิด แจ้งเหตุแก่เจ้าพนักงานเมื่อมีการกระทำความผิดอาญา หรือน่าเชื่อว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นภายในบริเวณหรือสถานที่ที่รับผิดชอบรักษาความปลอดภัยทันที รวมทั้งปิดกั้นและรักษาสถานที่เกิดเหตุให้คงสภาพเดิม เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าการปฏิบัติหน้าที่อาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชนได้ รัฐบาลจึงควรกำกับดูแลให้ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัยได้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและสอดคล้องกับตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย เช่น ควรมีการตรวจสอบประวัติของพนักงานรักษาความปลอดภัย มีการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ว่าต้องไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้กำลัง การกักขัง การจับกุมมิให้เกิดการทรมานหรือการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม การละเมิดหรือการใช้ความรุนแรง เป็นต้น
          รายงานผลการพิจารณาคำร้องเพื่อเสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ กรณีกล่าวอ้างว่าพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพนักงานรักษาความปลอดภัยมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงรายละเอียดอีกหลายประการ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ http://www.nhrc.or.th/NHRCT-Work/Research-papers-%281%29/ Revision-of-laws.aspx


 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๒  พฤศจิกายน  ๒๕๕๙
 

12/11/2559

เลื่อนขึ้นด้านบน