กสม.เข้าร่วมการประชุม UN Forum เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนประจำปี ๒๕๕๙

22/11/2559 1719

กสม.เข้าร่วมการประชุม UN Forum เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนประจำปี ๒๕๕๙ 


               การประชุม UN Forum เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นเวทีสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนในการหารือเกี่ยวกับแนวโน้มและความท้าทายในการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการรับรองโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ นอกจากนี้ UN Forum ยังเป็นเวทีในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนด้วย การประชุม UN Forum จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยคณะทำงานเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  (Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ ๕ โดยเน้นประเด็นหลักดังนี้
              ๑) ผลักดันให้รัฐเร่งรัดการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights  - UNGP) ทั้งในด้านนโยบายการออกกฎหมาย และบังคับใช้โดยประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวล ได้แก่ การดำเนินภารกิจของรัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น งานของรัฐวิสาหกิจ การจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ การดำเนินงานของสถาบันการเงิน
               ๒) ภาคธุรกิจต้องใช้ความเป็นผู้นำและผลักดันให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนในสายงานการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่บริษัทแม่ ผู้ผลิต และจัดหา (supplier) สถาบันการเงิน
               ๓) การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจที่มุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
               ๔) ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งพยายามปรับปรุงกลไกและช่องทางในการเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนพร้อมกับดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองบุคคลเหล่านี้  โดยเฉพาะผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง
               คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนายวัส  ติงสมิตร  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  นางประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางภิรมย์  ศรีประเสริฐ  เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เข้าร่วมการประชุม UN Forum ประจำปี ๒๕๕๙ ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙  ณ  สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา  สมาพันธรัฐสวิส  เพื่อรับทราบแนวทางเกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ และนำมาปรับใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติของไทย เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำหลักการชี้แนะไปปฏิบัติให้เกิดผล ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดทำแผนดังกล่าว โดยมี กสม.   เป็นหน่วยสนับสนุน สิ่งสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คือ การจัดให้มีกระบวนการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง/สหภาพแรงงาน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการประกอบธุรกิจ ตลอดจนสมาชิกรัฐสภาและฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ
               ทั้งนี้  ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ระหว่างการประชุม UN Forum กสม. ได้พบหารือกับนาย Livio Sarandrea ผู้แทน UNDP พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย เช่น การทำการศึกษาสถานการณ์เกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทยในปัจจุบัน (Baseline assessment) เพื่อให้ทราบว่าได้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติมากน้อยเพียงใด โดยจะนำผลการศึกษาไปใช้ประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ รวมถึงการจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการชี้แนะเพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ และในการนำหลักการชี้แนะไปปฏิบัติ ทั้งนี้ UNDP แจ้งว่าพร้อมให้การสนับสนุนด้านวิชาการ และด้านอื่นๆ แก่ประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดต่อไป
               นอกจากนี้ การเข้าร่วมประชุม UN Forum ยังทำให้ กสม. ได้รับทราบแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศต่างๆ ในการนำหลักการชี้แนะไปใช้โดยภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทำการประเมินผลกระทบหรือความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น ด้านสิทธิแรงงาน รวมถึงการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ และผลกระทบของการประกอบอุตสาหกรรมต่อชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่และพลังงาน เป็นต้น ในขณะเดียวกัน การนำหลักการชี้แนะไปใช้ยังมีความท้าทายหลายประการที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมมือกันแสวงหาทางออกเพื่อให้การปฏิบัติตามหลักการชี้แนะเกิดผลและคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างจริงจังต่อไป
               การประชุม UN Forum ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจเอกชน สถาบันการเงิน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานของสหประชาชาติ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒,๕๐๐ คน


 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๒ พฤศจิกายน  ๒๕๕๙

 

22/11/2559

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน