กสม. ศยามล เป็นวิทยากรการเสวนาวิชาการ “การเข้าถึงความยุติธรรมเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบรรษัทข้ามพรมแดน”

01/12/2566 29

                เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรการเสวนา หัวข้อ “การเข้าถึงความยุติธรรมเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบรรษัทข้ามพรมแดน” ในการประชุมแลกเปลี่ยนข้อท้าทายด้านสารบัญญัติ วิธีการดำเนินการและในทางปฏิบัติ แนวทางการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขกฎหมายหรือกำหนดมาตรการเพื่อประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการชดเชยเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนข้ามพรมแดน ณ โรงแรมคาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
                การเสวนาดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาท หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในด้านการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริง การระงับข้อพิพาท การประสานความคุ้มครอง การเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน การรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และในอนาคตอันใกล้นี้ กสม.จะนำกระบวนการไต่สวนสาธารณะ (Public Inquiry) มาใช้กับการละเมิดสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม
 
                ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. ใช้หลักการต่อไปนี้ในการพิจารณา ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในกรณีการลงทุนข้ามพรมแดน มีหลักการพิจารณาเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อตกลงของรัฐในอาเซียน แนวปฏิบัติธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนซึ่งนำไปใช้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์โดยพิจารณาตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน กลไกการเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วมจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องระยะยาว การเข้าถึงความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายสิ่งแวดล้อม และกระบวนการของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เลื่อนขึ้นด้านบน