กสม. สุชาติ กล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนาศาสนากับการคุ้มครองเด็ก ครั้งที่ 3

01/12/2566 26

                เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09:15 น. ผศ. สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิเด็กในศาสนาอิสลาม - จุดเชื่อมระหว่างหลักคำสอนและหลักการสิทธิมนุษยชน (Safeguarding Children’s Rights in Islam - A Harmonious Intersection of Faith and Human Rights) ในงานเสวนาศาสนากับการคุ้มครองเด็กครั้งที่ 3 “การเสริมสร้างการคุ้มครองเด็กในศาสนาอิสลาม : บทบาทผู้นำศาสนา นักวิชาการและชุมชน - เราจะคุ้มครองเด็กให้ดีขึ้นได้อย่างไร?” ณ โรงแรม ซี.เอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี
 
                ในการเสวนาดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักคำสอนของศาสนาอิสลามและหลักสิทธิมนุษยชนตอนหนึ่งว่า การคุ้มครองเด็กภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากลตั้งอยู่บนหลักการของความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ และขยายบรรทัดฐานเหล่านั้นไปยังมนุษย์ทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ ส่วนในศาสนาอิสลาม อัลกุรอาน ตระหนักดีว่าเด็ก ๆ มีความสำคัญต่ออนาคตของสังคม ดังนั้น จึงยืนยันให้พวกเขาได้รับการปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่และความเคารพอย่างสูงสุด นอกจากนี้ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้ประกาศรับรองกติกาว่าด้วยสิทธิเด็กในศาสนาอิสลาม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 กติกานี้มีจุดมุ่งหมายในการปกป้องสิทธิเด็ก โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบที่รัฐอิสลามมีต่อเด็กและมีพันธกรณีที่รัฐต้องปฏิบัติตาม 3 ประการ ได้แก่ 1) เคารพสิทธิที่กำหนดไว้ในกติกา และดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อบังคับใช้ตามข้อบังคับภายในประเทศ 2) เคารพความรับผิดชอบและหน้าที่ของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นที่รับผิดชอบตามกฎหมายต่อเด็กตามข้อบังคับภายในประเทศที่มีอยู่ และ 3) ยุติการกระทำตามประเพณี หรือแนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกติกา
 
                ทั้งนี้ เสวนาศาสนากับการคุ้มครองเด็กครั้งที่ 3  เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องในครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนแนวทางการคุ้มครองเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในบริบทศาสนาอิสลาม โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้แทนองค์กรศาสนา นักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้แทนชุมชน

เลื่อนขึ้นด้านบน