กสม. สุภัทรา เป็นวิทยากรเสวนาเรื่องอุปสรรคสำคัญด้านกฎหมาย นโยบาย และจุดคานงัดหลักในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรหลักด้านเอชไอวี

01/12/2566 31

                เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม Cotton Room โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ คุณสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรการเสวนาเรื่องอุปสรรคสำคัญด้านกฎหมาย นโยบาย และจุดคานงัดหลักในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรหลักด้านเอชไอวี ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “กฎหมาย นโยบายและการเข้าถึงบริการ : จุดเริ่มต้นและโอกาสในการเสริมสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรหลัก (Key Population) ในประเทศไทย” จัดโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP ประเทศไทย) ร่วมกับ คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จำนวน 30 คน  

                การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ภาคเช้าเป็นการอภิปรายแบ่งกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม 1) การจัดบริการสุขภาพโดยชุมชน ทั้งการตรวจ การรักษาและการป้องกัน รวมทั้งบริการด้านสิทธิ และด้านสังคม  กลุ่ม 2) การผลักดันระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย กลุ่ม 3) การยกเลิกความเป็นอาชญากรและขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ และกลุ่ม 4) การเข้าถึงยา วัคซีน อุปกรณ์ตรวจ และการป้องกันที่ทันสมัยในราคาที่เป็นธรรม โดยมีประเด็นหารือสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1) กฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวีและเอดส์อย่างเท่าเทียมสำหรับประชากรหลักในประเทศ 2) การเสริมสร้างกลไกการประสานงานให้สามารถจัดการกับปัญหากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่แบ่งแยก กีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรหลัก

                ภาคบ่าย เป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย จากนั้นเป็นการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิในประเด็นอุปสรรคสำคัญด้านกฎหมาย นโยบาย และจุดคานงัดหลักในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรหลักด้านเอชไอวี วิทยากรประกอบด้วย 1) คุณสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  2) เภสัชกรหญิง ยุพดี  ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 3) ดร.พัชรา  เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการ UNAIDS ประจำประเทศไทย  4) คุณจันทิมา ธนาสว่างกุล ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์  5) แพทย์หญิงนิตยา  ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี และ 6) คุณจารุณี ศิริพันธุ์  ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR)

                กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สะท้อนมุมมองด้านกฎหมายในประเทศไทยว่า มีกฎหมายจำนวนมาก การขับเคลื่อนให้มีกฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้ระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี ยกตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กำลังขับเคลื่อนร่วมกับภาคประชาสังคมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งใช้เวลามา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2560 ยกเว้นถ้าเรื่องนั้นเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล อย่างเช่นกรณีกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่ารวดเร็วมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายฉบับอื่นๆ โดยมีนัยยะสำคัญเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride 2028 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่นำมาพิจารณาการเป็นเจ้าภาพ คือเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

                ช่วงท้ายการอภิปราย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะว่า หลายเรื่องควรเสนอแก้กฎหมายในระดับอนุบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรอง เช่น กฎกระทรวง จะง่ายและใช้เวลารวดเร็วกว่ามาก ดังนั้น หากจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหรือตรากฎหมายใหม่ต้องวางแผนการขับเคลื่อนแบบยาว ๆ โดยในแต่ละปีต้องมีเป้าหมาย/ตัวชี้วัดที่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องจัดลำดับความสำคัญ และอาจพิจารณาว่ากลุ่มประชากรใดที่มีความยากลำบากต่อการเข้าถึงบริการมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันน่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติและคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล ทั้งนี้ เราพูดเสมอว่าเรื่องเอดส์ไม่ใช่ปัญหาสาธารณสุขอย่างเดียว เป็นปัญหาสังคมด้วย เช่น ตอนนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นผู้สูงวัยมากขึ้น บริการที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจต้องมากกว่าบริการสาธารณสุข ได้แก่ สวัสดิการสังคม หลักประกันด้านรายได้เมื่อสูงวัยหรือบำนาญถ้วนหน้า หรือสำหรับกลุ่มผู้ใช้ยา กลุ่มแรงงานข้ามชาติ อาจต้องการบริการทางด้านกฎหมาย เพื่อให้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

                ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ มุ่งที่จะวางรากฐานให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อความเป็นอยู่ที่ดีและการไม่แบ่งแยกกีดกัน การช่วยขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของผู้ติดเชื้อเอชไอวีสำหรับประชากรหลักด้วยการส่งเสริมการทำงานร่วมกัน การพิจารณาอุปสรรคทางกฎหมายและนโยบาย ตลอดจนการคิดค้นแนวทางแก้ไขปัญหาที่สามารถนำไปใช้ได้จริง

เลื่อนขึ้นด้านบน