กสม. ปิติกาญจน์ เข้าพบและหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับจังหวัดนครพนม

27/11/2566 28

               เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายชนินทร์  เกตุปราชญ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน) เดินทางเข้าพบกับนายวิจิตร  กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และเจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครพนม หารือแนวทางความร่วมมือการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยจังหวัดนครพนมยินดีให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้
               1) การนำเสนอและการประชาสัมพันธ์บทบาทและหน้าที่ของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน ที่สามารถมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดนครพนมได้ทั้งมิติการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม การส่งเสริมและร่วมจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
               2) การแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยแลกเปลี่ยนถึงผลได้ผลเสียจากนโยบายการพัฒนาในพื้นที่อีสาน ทั้งประเด็นเหมืองแร่โพแทช การบริหารจัดการน้ำที่ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงนโยบายอื่น ๆ ซึ่งต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม เฝ้าระวังและแจ้งข้อมูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเคร่งครัดในการควบคุมดูแล ตลอดจนเยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรมและรวดเร็วเมื่อเกิดผลกระทบโดยคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มตามหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกถึงความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นไปอย่างมีขอบเขตที่ได้ตกลงพูดคุย และเคารพสิทธิของผู้อื่นเช่นกัน โดยยึดหลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และหลักสิทธิมนุษยชนในการดำเนินการ
               3) แนวทางในการแก้ไขระเบียบซึ่งทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถยกระดับหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาแก้ไขปัญหาและตัดสินใจในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จากส่วนกลาง ได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขและบริหารจัดการปัญหา รวมถึงการพัฒนาในจังหวัดได้อย่างรวดเร็วสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ภายใต้การมีส่วนร่วมจากคณะกรรมการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษาและผู้แทนกลุ่มต่างๆ
 
               จากนั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะได้เดินทางไปที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครพนม (สยจ. นครพนม)และหารือเพื่อรับทราบสถานการณ์ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนปัญหาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
               1) จังหวัดนครพนมมีจำนวนแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศอิสราเอล ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และเมื่อเกิดสถานการณ์การสู้รบ แรงงานจึงต้องเดินทางกลับประเทศและประสบปัญหาหนี้สิน ซึ่งได้กู้ยืมเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ทั้งจากสถาบันการเงินในระบบและนอกระบบจำนวนมาก โดย สยจ.นครพนม กำลังดำเนินการเร่งช่วยเหลือเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้สินต่อไป
               2) ปัญหาสังคมทั้งความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและสตรี และปัญหาจากยาเสพติดที่ยังคงพบได้ทั่วไป ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมในครอบครัวและคนในชุมชนเกิดความหวาดระแวง โดยสาเหตุของปัญหาเกิดจากเยาวชนและประชาชนเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การดิ้นรนไปทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งนอกจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาแล้วยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนอย่างเข้มแข็งเพื่อช่วยเหลือสอดส่องดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ
               3) ปัญหาบุคลากร ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับ โดยปัจจุบัน สยจ. แต่ละจังหวัด มีการกิจในการช่วยเหลือประชาชน ตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในกระทรวงยุติธรรมที่เกี่ยวข้องถึง 5 ฉบับ และได้รับมอบหมายให้เป็นฝ่ายเลขานุการเพื่อประสานงานกับหน่วยงานภายในจังหวัดในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติอีก 2 แผน จึงมีประชาชนเข้ามาติดต่อขอใช้บริการเพื่อรับความช่วยเหลือและขอคำปรึกษาในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรที่มีกรอบอัตราที่น้อยและส่วนใหญ่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่มานานยังคงเป็นพนักงานราชการและลูกจ้าง จึงไม่ได้รับความมั่นคงและความก้าวหน้าเท่าที่ควร และอาจเกิดอุปสรรคเมื่อต้องประสานงานหรือไกล่เกลี่ยกับผู้มีอำนาจ
 
               ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับทราบและจะนำข้อมูลไปผลักดันตามหน้าที่และอำนาจให้เกิดข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาทั้งแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน