กสม.ปิติกาญจน์ เข้าพบและหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จังหวัดสกลนคร

25/11/2566 30

               เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.30 น. นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายชนินทร์ เกตุปราชญ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน) เดินทางไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสกลนคร เพื่อเข้าพบและประชุมร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานยุติธรรมด้านต่าง ๆ ในจังหวัดสกลนคร ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสกลนคร ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสกลนคร ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสกลนคร ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดสกลนคร และผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสกลนคร โดยร่วมหารือแนวทางความร่วมมือการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
               1. การแนะนำบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง และการหนุนเสริมการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ร่วมกันกับสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน
               2. การมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะแก่สำนักงาน กสม. เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาในทางปฏิบัติที่จะช่วยยกระดับและขับเคลื่อนงานด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
               3. การเตรียมความพร้อมและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนากรอบ หลักเกณฑ์การตรวจเยี่ยมสถานคุมขังเพื่อเฝ้าระวังในเชิงป้องกันตามกลไกพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) ที่ประเทศไทยใกล้เข้าเป็นภาคีในพิธีสารดังกล่าว
               4. การแลกเปลี่ยนแนวทางในการประชาสัมพันธ์หน่วยงานผ่านช่องทางออนไลน์และวิธีการที่จะทำให้ประชาชนรับรู้และมาติดต่อใช้บริการเพื่อการเข้าถึงสิทธิในการช่วยเหลือต่าง ๆ รวมถึงการสร้างเครื่องมือออนไลน์ในการจัดเก็บข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
 
               ในการประชุมดังกล่าวทุกฝ่ายได้สะท้อนสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
               1) ปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยมีสาเหตุปัญหาจากความเหลื่อมล้ำ ขาดการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวเท่าที่ควร เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงานในกรุงเทพและทิ้งให้ผู้สูงอายุเป็นฝ่ายดูแลลูกหลาน จึงไม่สามารถเฝ้าระวังและดูแลเด็กได้อย่างเท่าทัน ทำให้เด็กและเยาวชนหันไปมั่วสุมและนำไปสู่การกระทำความผิด โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่มีอย่างแพร่หลายในพื้นที่จากการที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายขึ้น
               2) ปัญหาในกระบวนการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดี ภายหลังการวางมัดจำของผู้ประมูล ที่เกิดการฉ้อโกงเรียกรับเงินกับเจ้าของทรัพย์เดิมมากขึ้น
               3) ปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานมีจำนวนน้อยไม่สอดคล้องกับจำนวนภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
 
               จากนั้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ได้เข้าเยี่ยมภายในสถานพินิจฯ เพื่อสำรวจและสอบถามสภาพความเป็นอยู่ และการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะด้านการศึกษาและการพัฒนาตนเอง ซึ่งพบว่าสถานพินิจฯ ดำเนินการคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้อย่างดีเป็นไปตามข้อกำหนดโตเกียว(Tokyo Rules) ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช่เรือนจำ โดยเฉพาะมาตรฐานการศึกษา ซึ่งสถาบันการศึกษาภายในจังหวัดล้วนให้ความร่วมมือในการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนภายในสถานพินิจมีสิทธิเข้ารับการศึกษาในทางเลือกต่าง ๆ ตามที่ตนต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเรียนจบมีวุฒิตามเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐานและต่อยอดในการเข้าทำงานในสายอาชีพต่าง ๆ และการเข้ารับราชการทหารเป็นจำนวนมาก
 
               ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้กำลังใจทั้งเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กตามหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งให้กำลังใจและนำแนวทางเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดที่จะสามารถกลับตัวกลับใจและพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อเป็นอนาคตที่เข้มแข็งของชาติได้ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน