กสม.ปิติกาญจน์ เข้าเยี่ยมและหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับจังหวัดอุดรธานี

24/11/2566 29

               เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายชนินทร์  เกตุปราชญ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน) เดินทางเข้าพบกับนายวันชัย  คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และเจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดอุดรธานี เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี 
              
               ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีที่สำนักงาน กสม. ได้มาจัดตั้งสำนักงานในพื้นที่ภาคอีสาน โดยจังหวัดอุดรธานียินดีให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้
               1) การนำเสนอและการช่วยประชาสัมพันธ์บทบาทและหน้าที่ของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน แก่หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ที่สำนักงาน กสม. สามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งมิติการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม การส่งเสริมและร่วมจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
               2) การแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ทั้งประเด็นเหมืองแร่โพแทช ปัญหามลพิษขยะ ประเด็นความหลากหลายทางเพศ ผลกระทบจากการพัฒนา ซึ่งต้องมีการเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายภาคประชาสังคมได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
               3) การพัฒนากลไกการประสานการคุ้มครอง การเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนร่วมกันและการจัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม มาพิจารณาตามกรอบสิทธิมนุษยชน รวมถึงการประเมินผลตามมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมและคำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง
 
               ในการประชุมหารือดังกล่าวจังหวัดอุดรธานีได้นำเสนอและสะท้อนการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ได้แก่
               1) การนำเสนอผลงานการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดอุดรธานี ที่ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ อ.บ้านดุง นำมาสู่การสามารถออกบัตรประชาชนให้ชาวไทยที่ยังไม่มีบัตรประชาชนได้จำนวน 24 รายและการแก้ไขปัญหาเชิงระบบด้านสถานะบุคคลร่วมกับ สำนักงาน กสม. ต่อไป
               2) แผนการขับเคลื่อนให้ความรู้ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในโรงเรียนจำนวน 10 แห่ง โดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งต้องส่งเสริมให้รู้ทั้งสิทธิของตนเองและหน้าที่ในการเคารพสิทธิของผู้อื่น
               3) การสะท้อนและเสนอแนวทางเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการของจังหวัดร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางปกครองและองค์กรส่วนท้องถิ่นโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมกันในระทุกระดับอย่างแท้จริง
               4) การสะท้อนถึงปัญหาการดำเนินการตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของหน่วยงานในระดับพื้นที่ซึ่งเกิดจากกรอบตัวชี้วัดในแต่ละด้านไม่ชัดเจนแน่นอนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการและรายงานผล
               5) การพัฒนากลไกการประสานการคุ้มครอง การเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนร่วมกันและการจัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม มาพิจารณาตามกรอบสิทธิมนุษยชน รวมถึงการประเมินผลตามมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมและคำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง

เลื่อนขึ้นด้านบน