กสม. ลงพื้นที่สังเกตการณ์กระบวนการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ณ ศูนย์การเรียนรู้มหานคร เขตหนองจอก กทม.

22/11/2566 32

          เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. ที่ศูนย์การเรียนรู้มหานคร สถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร นางปรีดา คงแป้น นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงาน กสม. ร่วมสังเกตการณ์กระบวนการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ที่อยู่ในกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ในการนี้ได้เข้าพบและรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จาก พล.ต.ต. ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 และร่วมลงสังเกตการณ์ NRM สรุปได้ดังนี้
          1. ผู้เสียหายมีจำนวนทั้งหมด 266 คน โดยพบว่ามีผู้ถูกหมายจับจำนวน 6 คน จึงมีผู้เสียหายเข้าสู่กลไก NRM ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จำนวน 260 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 82 คน และผู้ชาย 178 คน

          2. บริเวณหอพักแยกชายหญิงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี เป็นห้องพักติดเครื่องปรับอากาศ มีเตียงนอน มีอาหารกล่องที่ถูกจัดหามาโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
          3. ใช้ระยะเวลาคัดกรองและคัดแยกภายในสถานที่คุ้มครองประมาณ 5 - 7 วัน โดยขออนุมัติการคุ้มครองต่อศาล
 
          4. ปัญหาอุปสรรค ได้แก่
          4.1 ขาดแคลนงบประมาณในส่วนของอาหารของเจ้าหน้าที่ และของใช้ส่วนตัวในชีวิตประจำวันของผู้เสียหาย เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น
          4.2 ยังไม่มีแพทย์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ทั้งนี้มีผู้เสียหายที่มีอาการเจ็บป่วยรวมอยู่ด้วย
          4.3 ยังไม่สามารถแจกโทรศัพท์เคลื่อนที่และทรัพย์สินส่วนตัวคืนได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการคัดกรองและคัดแยก
          4.4 ยังไม่มีการกำหนดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแถลงข่าวเมื่อใด และยังขาดความชัดเจนว่าผู้ใดจะเป็นผู้แถลงข่าว ส่งผลให้ญาติผู้เสียหายที่อยู่ภายนอกไม่ทราบรายละเอียดกระบวนการดำเนินการที่ชัดเจน
          4.5 หน่วยงานผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังขาดความชัดเจนเรื่องระบบการจัดการว่าหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนงบประมาณด้านการดูแลความเป็นอยู่ระหว่างกระบวนการคัดแยกและคัดกรอง
 
          ทั้งนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอให้มีโทรศัพท์ส่วนกลางเพื่อสื่อสารกับญาติที่อยู่ภายนอกสถานคุ้มครอง รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการพบญาติตามความเหมาะสมโดยเร็ว

เลื่อนขึ้นด้านบน