กสม.สุภัทรา ประชุมร่วมกับตัวแทนเครือข่าย Pride หารือขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028

17/11/2566 49

          เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. คุณสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน สำนักงาน กสม. ประชุมร่วมกับตัวแทนเครือข่าย Pride โดยบางกอก Pride หารือความร่วมมือในการเตรียมการจัดงาน BKK Pride 2024 และขับเคลื่อนสู่การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 ณ ห้องประชุม 705 สำนักงาน กสม.
 
          คุณชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนเครือข่าย Pride โดยบางกอก Pride เล่าถึงที่มาของงาน Bangkok Pride 2023 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ว่า จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Beyond Gender เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาในหลากหลายมิติที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ครอบคลุมความหลากหลายมากขึ้น โดยขับเคลื่อน 4 ประเด็นสำคัญคือ 1) การรับรองเพศสภาพ 2) สมรสเท่าเทียม 3) สิทธิของ Sex Workers และ 4) สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQ+
 
          นอกเหนือจากเป้าหมายการร่วมเฉลิมฉลองให้กับเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศในทุก ๆ ปีแล้ว รัฐบาลและกรุงเทพมหานครยังพร้อมใจเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเทศกาลระดับโลกอย่าง World Pride 2028 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นชาติแรกในเอเชีย โดยพบว่าหลังจัดกิจกรรมนี้ช่วยดันตัวเลข GDP ทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเห็นได้ชัด  โดยมีเป้าหมายใหญ่ในความร่วมมือในการขอลิขสิทธิ์ในการจัด World Pride ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2028  ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องมีคือการเปิดรับจากชุมชน สังคม ภาคธุรกิจ สิ่งอำนวยความสะดวกและความพร้อมของเมือง
 
          คุณชุติพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาล 1) การผ่านกฎหมายสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ คือ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) และร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ 2) การยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และ 3) การผ่านกฎหมาย พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ  ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลไทย หากต้องการไปให้ถึงประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติในการสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนทุกเพศอย่างมีศักดิ์ศรี แต่คุณสมบัติที่จะผ่านการคัดเลือกโดยผู้ถือลิขสิทธิ์นั้นไม่ง่าย อีกทั้งประเทศที่ถูกยกเลิกการจัดงานแม้จะผ่านการคัดเลือกก็เคยมีมาแล้ว
 
          ตัวแทนเครือข่าย Pride กล่าวเสริมว่า เทศกาล World Pride นั้นเป็นงานไพรด์นานาชาติ หรืออาจเรียกว่าเป็นโอลิมปิกของกลุ่ม LGBTQIAN+ จัดขึ้นโดยองค์กร Inter Pride เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2000 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตามด้วยกรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ในปี 2006 จากนั้นกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2012 กรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา ปี 2014 กรุงมาดริด ประเทศสเปน ปี 2017 กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ปี 2019 กรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก ปี 2021 และล่าสุด 5 มีนาคม 2023 จัดขึ้นที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ปี 2025 ที่เสนอชื่อเข้าชิงพร้อมกับไต้หวัน ที่ผ่านกฏหมายสมรสเพศเดียวเป็นที่แรกในเอเชีย แต่ต้องถูกยกเลิกการจัดงานเนื่องจากคณะกรรมการจาก Inter Pride แสดงความกังวลด้านการเมืองระหว่างไต้หวันกับจีน แม้ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามติดต่อให้ผู้จัดเปลี่ยนชื่อเป็น เกาสง มณฑลที่เป็นเจ้าภาพแทน และตามด้วยกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี 2026  และกรุงเทพมหานครที่เตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2028 ซึ่งจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้จัด World Pride หากผ่านคุณสมบัติ โดยประเทศสมาชิก Inter Pride เป็นผู้คัดเลือกตามความเหมาะสม
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยินดีร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเสนอตัวให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028 ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดังนี้
          1. ยินดีเป็นองค์กรร่วมจัดการประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ในวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงาน กสม. เพื่อทำความเข้าใจก่อนนำไปสู่การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028
          2. กสม. ยินดีเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมกับกรุงเทพมหานคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้ายื่นขอเสนอตัวให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 ในเดือนตุลาคม 2567 ณ ประเทศโคลอมเบีย
          3. กสม. ร่วมจัดงาน BKK Pride 2024 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – วันที่ 2 มิถุนายน 2567 ณ อาคารลิโด้ สยามสแควร์ โดยมีกิจกรรมการจัดงานเสวนา พร้อมออกบูทนิทรรศการประเด็นสิทธิมนุษยชนกับความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเข้าร่วมเดินขบวนพาเหรด BKK Pride 2024 ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567

เลื่อนขึ้นด้านบน