กสม. ปิติกาญจน์ร่วมงานแถลงข่าว “โครงการลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน”

17/11/2566 49

          วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. ด้านสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าว “โครงการลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” โดยมี พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนส่วนราชการ ประกอบด้วย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผศ. ดร. ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล ผอ. ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์  หักพาล รอง ผบ.ตร. ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 (ส่วนหน้า) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 
          สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร ให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบ ตร. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจที่ไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) อีกทั้ง ให้ปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติอาชญากรให้เป็นปัจจุบัน โดยในปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมา กสม. ได้ผลักดันประเด็นดังกล่าวในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของ กสม. ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม นั้น
 
          สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์  หักพาล รอง ผบ. ตร. เป็นผู้ขับเคลื่อนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ติดตามและกำชับการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแจ้งผลการดำเนินคดีถึงที่สุด เพื่อทำการคัดแยก ทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิวมือ และรายการประวัติหรือบัญชีประวัติออกจากสารบบหรือฐานข้อมูลประวัติอาชญากร เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
 
          ทั้งนี้ ในการแถลงข่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบผลการดำเนินงานตามโครงการว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้คัดแยกทะเบียนในการจัดเก็บและเปิดเผยประวัติบุคคลในฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) เพื่อทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิในสังคมได้ อีกทั้ง มีช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบประวัติด้วยชื่อสกุลผ่านเว็บไซต์ www.crd-check.com ของโครงการเพื่อตรวจสอบสถานะทางทะเบียนประวัติอาชญากรรมของตนเอง นอกจากนี้ ได้เชิญตัวแทนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบจากการมีชื่อในทะเบียนประวัติ และภายหลังจากโครงการดังกล่าวทำให้สามารถเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ รวมถึงสามารถเข้ารับราชการได้ จึงได้กล่าวคำขอบคุณอย่างยิ่งต่อผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย
 
          ในการแถลงข่าวดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. ได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันตามข้อเสนอแนะของ กสม. เพื่อช่วยเหลือและก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนที่เป็นผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจึงไม่ใช่อาญากร หรือแม้ในส่วนของผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษแล้วก็สมควรได้รับโอกาสในการกลับคืนสู่สังคม
 
          นอกจากข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว กสม. ยังมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงยุติธรรมให้เร่งรัดการพิจารณาเสนอร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. .... เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการกำหนดรูปแบบศูนย์กลางข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร โดยเพิ่มหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยประวัติผู้ได้รับประโยชน์จากการล้างมลทิน การลบประวัติอาชญากรออกหากเจ้าของประวัติไม่ได้กระทำผิดซ้ำหลังจากพ้นโทษ 5 ปี เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดย กสม. สนับสนุนและร่วมผลักดัน เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์อย่างยิ่งของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ และไม่เป็นภาระกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงหน่วยงานเดียวดังที่ผ่านมา โดยเห็นควรให้มีหน่วยงานทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการ ประสานงาน เชื่อมโยงข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลประวัติอาชญากรทุกประเภทให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบอย่างบูรณาการ อันเป็นการให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเจ้าของข้อมูล เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างครบถ้วน สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและสร้างสมดุลกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน