กสม. สุภัทรา ร่วมงาน ”เติมพลังให้เต็มร้อย ปลูกรัก สร้างชุมชน เสริมพลังภาคี” เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี การก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยฯ

17/11/2566 35

          เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. ที่โรงแรม Avani Sukhumvit Bangkok นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมงาน ”เติมพลังให้เต็มร้อย ปลูกรัก สร้างชุมชน เสริมพลังภาคี” เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี การก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai TGA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหม่ของมูลนิธิฯ และเพื่อสร้างการรับรู้อัตลักษณ์ใหม่ขององค์กร อันนำไปสู่การทำงานร่วมกันกับชุมชนคนข้ามเพศ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในทุกช่วงวัย

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวสุนทรพจน์ประเด็น “ไทยทีจีเอกับบทบาทในการเคลื่อนไหวสิทธิฯในระดับประเทศ” โดยได้แสดงความยินดีและชื่นชมมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ดำเนินการมาครบ 13 ปี  เป็นมูลนิธิฯ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนข้ามเพศ มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสังคม โดยเจตจำนงของมูลนิธิฯ ปรากฎในชื่อของมูลนิธิฯ คือ 

          เครือข่าย  คือการสนับสนุนการรวมตัว/รวมกลุ่มของคนข้ามเพศ เสริมสร้างความเข้มแข็ง องค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้คนข้ามเพศได้ออกมาเสนอปัญหาและทางออกด้วยตนเองตามปรัชญาที่ว่า คนที่รู้ปัญหาดีที่สุดคือเจ้าของปัญหา ดังนั้น คนที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือเจ้าของปัญหานั่นเอง การทำงานเป็นเครือข่ายจำเป็นต้องมีระบบการส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ดี ไม่ใช่รู้เฉพาะแกนนำ ต้องสร้างการรับรู้ที่เท่าเทียมกัน

          เพื่อน คือ ภาคีที่สนับสนุนการทำงานของมูลนิธิฯซึ่งการขับเคลื่อนด้านนโยบาย กฎหมาย หรือ policy advocacy จำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมทาง ทั้งนักวิชาการ คนทำงานภาคประชาสังคม สื่อ หน่วยงานรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย สส. สว. เป็นต้น การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคนข้ามเพศ เพื่ออคติและความเกลียดกลัว ยังมีความจำเป็น เริ่มต้นจากการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชนอื่น ๆ ซึ่งมูลนิธิฯ เริ่มทำแล้ว เช่น เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (we fair) เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (Move D) เป็นต้น

          สิทธิมนุษยชน คือ มูลนิธิฯเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน  ได้แก่ ศักดิศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ไ คนข้ามเพศไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษ แต่เรียกร้องให้สังคมเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ปฏิบัติต่อคนข้ามเพศเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม

          ในช่วงท้าย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. ยินดีที่จะเป็นเพื่อนร่วมทางทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ เพื่อสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน และสร้างสังคมที่น่าอยู่ สำหรับทุกคน ทุกเพศ ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน