กสม.สุภัทรา เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของพนักงานบริการในประเทศไทย

17/11/2566 48

          เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรม Pullman Bangkok Hotel G กรุงเทพฯ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายและสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของพนักงานบริการในประเทศไทย (South-South Cooperation Workshop on Promoting and Safeguarding the Rights of Sex Workers in Thailand) จัดโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจําประเทศไทย (UNDP) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจภูมิทัศน์ทางกฎหมายและสังคมที่ซับซ้อนเกี่ยวกับอาชีพพนักงานบริการ การหารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมสิทธิของพนักงานบริการ และเป็นพื้นที่สำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีและมุมมองด้านการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นการคุ้มครองสิทธิของพนักงานบริการในต่างประเทศ ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คนทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของพนักงานบริการ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย รวมถึงผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคมจากมลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

          ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แสดงความเห็นใน 2 ประเด็น ดังนี้
          1. การขับเคลื่อนนโยบาย กฎหมาย (Policy advocacy) นอกจากความเข้มแข็งของเครือข่าย sex worker แล้ว ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และสื่อมวลชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ
          2. การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและพนักงานบริการ เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโทษปรับตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นสิงที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองท่องเที่ยว ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกลุ่ม sex worker

          ทั้งนี้ ผู้เข้าประชุมได้ร่วมหารือเกี่ยวกับสภาพปัญหาในปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองสิทธิของพนักงานบริการ และแนวทางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และได้ร่วมเสนอแนะกลไกในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งในมิติสุขภาพ ความเป็นอยู่ทางสังคมและเศรษฐกิจ และความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของพนักงานบริการ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

เลื่อนขึ้นด้านบน