กสม.สุภัทรา กล่าวปาฐกถาพิเศษ “สิทธิมนุษยชนกับเอชไอวี” ในการประชุมแนวร่วมภาคธุรกิจอาเซียนว่าด้วยการป้องกันและควบคุมเอชไอวี/เอดส์ ครั้งที่ 9 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

15/11/2566 37

          เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 701 สำนักงาน กสม. และผ่านระบบออนไลน์ นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สิทธิมนุษยชน กับ HIV” ในการประชุมแนวร่วมภาคธุรกิจอาเซียนว่าด้วยการป้องกันและควบคุมเอชไอวี/เอดส์ ครั้งที่ 9 จัดโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสมาคมแนวร่วมธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ เพื่อเสริมสร้างบทบาทของภาคธุรกิจในการเป็นหุ้นส่วนและมีส่วนร่วมระหว่างพันธมิตรไตรภาคีในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยตั้งเป้าไปสู่การไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือตีตรา และยุติการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ให้เป็นศูนย์ โดยมีนางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงานของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ในด้านแรงงาน ด้านสาธารณสุข องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้รับรางวัล ARROW AWARD ของแต่ละประเทศในปีที่ผ่านมา
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้สรุปได้ว่า ตั้งแต่มีการพบผู้ป่วยเอดส์รายแรกในปี 1981 พัฒนาการด้านการป้องกัน การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ดีขึ้นตามลำดับ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงการป้องกัน เข้าถึงการรักษาและยาต้านไวรัสมากขึ้น เราจะพบเห็นผู้ป่วยเอดส์น้อยลง หลายประเทศกำหนดให้การป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน พัฒนาการด้านการป้องกัน มีการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีก่อนมีการสัมผัสเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ Pre- Exposure Prophylaxis หรือชื่อย่อ PrEP หรือกรณีการให้ยาต้านไวรัสหลังการสัมผัสเชื้อแล้วที่เรียกว่า Post-Exposure Prophylaxis หรือ PEP ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากเอดส์ก็ลดลง ซึ่ง UNAIDS ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 3 Zero โดยวางเป้าหมายว่าจะต้องยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 2030 ประกอบด้วย Zero new HIV infection Zero death related AIDS และ Zero discrimination
 
          ปัจจุบันยังมีการนำชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง หรือ HIV Self -test ออกมาใช้และวางขาย ทำให้การตรวจเอชไอวีทำได้ง่ายขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจด้วยตนเอง เมื่อรู้สถานะการติดเชื้อเร็วก็เข้าสู่การรักษาเร็ว มีการพัฒนาบริการให้ยาต้านไวรัสทันทีเมื่อตรวจพบ หรือ Same day ARV ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ป่วยไม่ตาย สุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว สามารถเรียน ทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ที่เข้าสู่การรักษา เมื่อกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องจนตรวจไม่พบเชื้อ จะไม่สามารถส่งผ่านเชื้อเอชไอวีไปให้คู่นอนได้ ซึ่งกำลังมีการรณรงค์เรื่องดังกล่าวทั่วโลก U=U (Undetectable = Untransmittable) ดังนั้น เอชไอวี/เอดส์ ในมิติด้านสาธารณสุขหรือทางการแพทย์จึงมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายได้
 
          แต่เอชไอวี/เอดส์ในมิติทางสังคม วัฒนธรรม ที่ยังมีการเกลียด กลัว หรือรังเกียจ ไม่ยอมรับ การอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสังคม มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งได้แสดงออกมาผ่านกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย ของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งจะพบว่าเกิดจากการขาดความรู้ที่ทันสมัย นำไปสู่ความไม่เข้าใจ ไม่ตระหนัก นำไปสู่ความกลัว ความกังวลว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะเป็นภาระ จะป่วยง่ายตายไว รวมทั้งทัศนคติเชิงลบที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มองว่าเป็นโรคที่เกิดกับคนที่มีพฤติกรรมส่ำส่อนทางเพศ ใช้ยาเสพติด เป็นโรคของคนไม่ดี ซึ่งเป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมเรื่องเอชไอวี/เอดส์ แพทย์บางคนยังให้ข้อมูลเรื่องเอชไอวีเอดส์ว่ามี 3 ระยะ เอดส์ตอนต้น เอดส์ตอนกลาง และเอดส์ระยะสุดท้าย ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนในสังคม
.
หลักความเสมอภาคเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ เป็นหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 1948 และปรากฏในสนธิสัญญา พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติจึงเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน- SDG ข้อ 10 เป้าประสงค์ที่ 10.3
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวต่อว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี พวกเขาเป็นมนุษย์ มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี การติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ทำให้คุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลดลง สิทธิและเสรีภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้แตกต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษใด ๆ แต่เรียกร้องให้ปฏิบัติต่อพวกเขาเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม ดังนั้น สิทธิด้านเอดส์ คือสิทธิมนุษยชน คือสิทธิของทุกคน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในการศึกษา สิทธิในการมีงานทำ สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น สิทธิในความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการเลือกคู่ครองสร้างครอบครัว สิทธิที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐ สิทธิในการรวมกลุ่ม เป็นต้น การที่เราต้องเน้นย้ำการเคารพสิทธิมนุษยชนและไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี และมีมาตรการรองรับเรื่องนี้ ทั้งมาตรการทางกฎหมาย มาตรการเชิงนโยบาย เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ จึงมีความสำคัญ เพื่อไปสู่เป้าหมาย Zero discrimination สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ร่วมมือกับภาคประชาสังคมชื่อว่า เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (Move D) กำลังขับเคลื่อนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งริเริ่มโดยองค์กรที่ทำงานด้านเอชไอวี แต่กฎหมายนี้จะมีลักษณะเป็นกฎหมายกลางที่คุ้มครองทุกคนให้ปลอดพ้นจากการถูกเลือกปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน
 
          ผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยทำงาน จากรายงานการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO พบว่า การติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ทำให้ productivity ลดลง พวกเขามีสุขภาพแข็งแรง มีศักยภาพ หากพวกเขาถูกปฏิเสธการจ้างงาน ทั้งที่มีศักยภาพในการทำงาน จึงเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม การที่แนวร่วมภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนมาประชุมร่วมกันในวันนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่ง องค์กรภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีผ่านการบริหารจัดการขององค์กร โดยอยากเสนอให้องค์กรภาคธุรกิจศึกษาและนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งหลักการชี้แนะนี้จะมีความสำคัญมากขึ้น ในอนาคตอาจเป็นเงื่อนไขการส่งออกสินค้า ภาคธุรกิจต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิของบุคคลและสิทธิชุมชน การประกอบธุรกิจต้องเป็นไปโดยเคารพสิทธิมนุษยชน ใน UNGPs มีการกำหนดว่าในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงต้องมีการป้องกัน และหากเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจต้องมีการชดเชย เยียวยา ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องศึกษารายละเอียด UNGPs และนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของตน
 
          ในประเด็นเรื่องเอชไอวี/เอดส์ หน่วยงานภาครัฐต้องออกมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อเอชไอวีควบคู่ไปกับการรณรงค์สร้างความเข้าใจองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อลบภาพจำเดิมของเอชไอวีในอดีต ในขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนต้องไม่มีนโยบายบังคับให้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพื่อนำผลการตรวจมาเป็นเงื่อนไขในการจ้างงาน หรือเลิกจ้าง ต้องมีการส่งเสริมให้บุคลากรและลูกจ้างของตนทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ส่งเสริมให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจเมื่อมีความเสี่ยง และส่งเสริมให้เข้าถึงการรักษาโดยเร็วเมื่อทราบว่าติดเชื้อ รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา สมาชิกในองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ หากทำได้ดังที่กล่าวมาอย่างกว้างขวาง เป้าหมาย Zero discrimination ก็สามารถเป็นจริงได้ ทั้งนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเน้นย้ำในตอนท้ายว่า “สิทธิด้านเอดส์ คือสิทธิมนุษยชน คือสิทธิของทุกคน”

เลื่อนขึ้นด้านบน