ประธาน กสม. และคณะ เข้าร่วมประชุม GANHRI International Conference ครั้งที่ 14 ว่าด้วยบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

12/11/2566 37

          เมื่อวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2556 ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรประไพ  กาญจนรินทร์ พร้อมด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปิติกาญจน์  สิทธิเดช ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุม GANHRI International Conference ครั้งที่ 14 ของกรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) ณ UN City กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
 
          ประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานของสหประชาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการต่อต้านการทรมาน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานทั้งของตนและกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการป้องกันและต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention Against Torture: CAT) ตลอดจนรูปแบบการจัดตั้งและการทำหน้าที่ของกลไกระดับชาติเพื่อป้องกันการทรมาน (National Preventive Mechanism: NPM) ตามพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ของอนุสัญญา CAT หรือ OPCAT ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานของ กสม. ในการตรวจเยี่ยมเรือนจำและสถานที่ควบคุม/คุมขังต่าง ๆ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อ OPCAT ก็ตาม
 
          ในระหว่างการประชุม คณะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้แทนสมาคมป้องกันการทรมาน (Association of Prevention of Torture: APT) เกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต โดยเฉพาะการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในงานด้านการป้องกันการทรมาน และการหารือกับผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงานด้านการป้องกันการทรมานที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงรูปแบบและการเตรียมการเพื่อทำหน้าที่ NPM นอกจากนี้ คณะผู้แทน กสม. ได้เข้าเยี่ยมชมการทำงานขององค์กร DIGNITY หรือสถาบันต่อต้านการทรมานแห่งเดนมาร์ก (Danish Institute Against Torture) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 องค์กรที่เป็นองค์ประกอบของ NPM ของประเทศเดนมาร์ก และมีภารกิจสำคัญในการเป็นศูนย์บำบัดรักษาเหยื่อของการทรมานจากประเทศต่าง ๆ เช่น ผู้หนีภัยสงคราม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย เป็นต้น
 
          ในช่วงท้ายของการประชุม สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากทั่วโลกได้รับรองปฏิญญาเคียฟ-โคเปนเฮเกน อย่างเป็นเอกฉันท์ เพื่อแสดงคำมั่นที่จะเพิ่มความพยายามในการป้องกันและจัดการกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกตามอำนาจหน้าที่ของตน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการปฏิรูปกฎหมาย การผลักดันการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้น และการทำหน้าที่เป็นกลไกป้องกันการทรมานตามพิธีสาร OPCAT

เลื่อนขึ้นด้านบน