กสม.สุภัทรา ลงพื้นที่เมืองพัทยารับฟังข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและตั้งข้อหาผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยมิชอบ

06/11/2566 35

          เมื่อวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน 2566 นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 และเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. ลงพื้นที่เมืองพัทยาสังเกตการณ์และรับฟังข้อเท็จจริงกรณีมีเรื่องร้องเรียนกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและตั้งข้อหาผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยมิชอบ โดยมีกิจกรรมดังนี้

          เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19.30 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่สังเกตการณ์และเดินสำรวจบริเวณถนนคนเดิน และชายหาดเมืองพัทยา ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาพักผ่อนจำนวนพอสมควร ร้านค้า สถานบริการ เปิดให้บริการตามปกติ ไม่พบเห็นการจับกุมใด ๆ

          ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ประชุมรับฟังข้อเท็จจริงร่วมกับ พ.ต.ท. สุรเชษฐ์ เอนกศรี รอง ผกก.ป.สภ.เมืองพัทยา และ พ.ต.ท. พิชญะ เขียวเปลื้อง สารวัตรสถานีตำรวจท่องเที่ยวพัทยา ณ ห้องประชุม สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา เพื่อรับทราบแนวนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการค้าประเวณีในพื้นที่เมืองพัทยา การแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ การลงพื้นที่กวาดจับ และสถิติการจับกุมในพื้นที่ โดยได้ทราบข้อมูลการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ สรุปว่า สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยารับผิดชอบดูแลพื้นที่ชายหาดพัทยาเหนือจนถึงซอย 13 และสถานีตำรวจท่องเที่ยวพัทยาดูแลตั้งแต่ซอย 13 ถึงถนนคนเดิน (Walking street)

          ในการนี้ สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา ได้นำเสนอสถิติการจับกุมข้อหาชักชวน แนะนำติดตามหรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสถานที่สาธารณะ หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใดเพื่อการค้าประเวณี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 2,359 คดี  ผู้ต้องหาเป็นเพศชาย 525 คดี เป็นเพศหญิง 1,834 คดี ทั้งสองหน่วยงานรับทราบแล้วว่าตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2566 ตำรวจไม่มีอำนาจจับและปรับในข้อหาดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 อย่างไรก็ดี ยังไม่มีแนวปฏิบัติในการดำเนินการที่ชัดเจนเมื่อพบการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าว

          ในวันเดียวกัน เวลา 13.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ เดินทางไปพบผู้ร้องและผู้เสียหายจำนวน 7 ราย ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติเพื่อซักถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

          จากนั้น เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ประชุมหารือเพื่อรับทราบสถานการณ์ปัญหาของพนักงานบริการ ร่วมกับผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานส่งเสริมและให้บริการด้านสุขภาพในการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานบริการและพนักงานบริการทางเพศ รวมถึงคลินิกให้บริการตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานบริการว่า ปัจจุบันอาชีพพนักงานบริการ พนักงานบริการทางเพศ ยังไม่ถูกยอมรับจากสังคมให้เป็นอาชีพถูกกฎหมาย การบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ยังมีช่องว่างที่นำไปสู่การตีตราและเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ทำอาชีพนี้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

          ในโอกาสเดียวกัน เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. ได้ให้ข้อมูลความรู้แก่เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชีท้าย พ.ร.บ. ซึ่งในกรณีผู้กระทำผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอผ่อนชำระหรือทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนชำระค่าปรับได้ โดยจะไม่มีการขังแทนค่าปรับ

          ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) จะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เมืองพัทยา  เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและคนทำงานภาคประชาสังคมได้เข้าใจกฎหมายดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การบังครับใช้และการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน