กสม. สุภัทรา ร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นต่อร่างการศึกษาวิจัยการเชื่อมโยงความพิการและการค้ามนุษย์ในภูมิภาคอาเซียน

06/11/2566 31

            เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท สุขุมวิท นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างความพิการและการค้ามนุษย์ในภูมิภาคอาเซียน"  จัดโดยโครงการอาเซียน-ออสเตรเลียเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (ASEAN-Australia Counter Trafficking) เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในความเปราะบางของคนพิการต่อการค้ามนุษย์และการแสวงประโยชน์ รวมทั้งวิธีการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน การให้ความช่วยเหลือคนพิการ และความท้าทายที่ผู้เสียหายต้องเผชิญในการเข้าถึงความยุติธรรมและการให้ความช่วยเหลือ โดยการศึกษาวิจัยมุ่งศึกษาสถานการณ์ใน 3 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย 

             การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอร่างรายงานผลการศึกษาวิจัยและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) กฎหมายและนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่มีความพิการ (2) การคัดแยกผู้เสียหายและการรวบรวมข้อมูล (3) การเข้าถึงความช่วยเหลือ เช่น สถานคุ้มครอง การส่งกลับ การกลับคืนสู่สังคม และบริการทางการแพทย์ และ (4) การเข้าถึงความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

            ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานการศึกษาวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
            (1) ข้อเสนอแนะควรยึดหลักสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของคนพิการ ที่ปรากฏในข้อ 13 วรรค 1 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ที่ระบุให้รัฐภาคีประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิผลสำหรับคนพิการบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือในเรื่องกระบวนวิธีพิจารณาและความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามวัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการแสดงบทบาทของคนพิการในฐานะผู้มีส่วนร่วมโดยตรงและโดยทางอ้อม รวมทั้งในฐานะเป็นพยานในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายทั้งปวง รวมทั้งในขั้นตอนการสอบสวนและกระบวนการเบื้องต้นอื่นๆ
            (2) กรณีประเทศไทย ช่องว่างสำคัญคือยังไม่มีกฎหมายเฉพาะของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับคนพิการ
            (3) ควรเปลี่ยนจาก "ส่งเสริม" การจำแนกประเภทและการรายงานข้อมูลการค้ามนุษย์ เป็น "กำหนด" ให้มีกระบวนการจำแนก เพื่อให้ข้อมูลหนักแน่นยิ่งขึ้น
            (4) ควรระบุผู้รับผิดชอบ ขั้นตอน และกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้เสียหายที่เป็นคนพิการจากการค้ามนุษย์
            (5) ไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ “นิยาม” และ “ขอบเขต” การค้ามนุษย์ ยังไม่กว้างขวาง ครอบคลุม เพียงพอ เอื้อมไปไม่ถึงคนพิการ
            และ (6) ควรมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องคนพิการที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์
อนึ่ง ผลการศึกษาระบุถึงข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่พบว่า ปัจจุบันมีคนพิการจำนวน 1.3 พันล้านคนทั่วโลก และมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 700 ล้านคนอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นคนพิการที่มีอัตราความยากจนสูง และเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงการคมนาคม ข้อมูลและข่าวสาร การศึกษา การจ้างงาน และการเป็นตัวแทนทางการเมือง จึงส่งผลให้คนพิการมีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ

            ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยจะนำข้อมูล ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นจากที่ประชุม มารวบรวมสรุปในร่างรายงานการศึกษาวิจัย และเผยแพร่รายงานอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม เพื่อรำลึกถึงวันคนพิการสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี

เลื่อนขึ้นด้านบน