กสม.สุภัทรา ประชุมร่วมมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing ) ติดตามและวางแผนการขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ (Sex worker)

06/11/2566 37

                เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. ด้านสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. ประชุมร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing)  เพื่อติดตามและวางแผนการขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ (Sex worker) ซึ่งเป็นการประชุมหารือสืบเนื่องจากเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชน 2566 ห้องย่อยประเด็นการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล มีมติให้มีการขับเคลื่อนเรื่องการยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และขับเคลื่อนให้มีกฎกระทรวงแรงงานคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในสถานบริการ

                ในการประชุมดังกล่าว นางสาวสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing)  กล่าวว่า ขณะนี้มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (swing) ได้ริเริ่มยื่นร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539  ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 โดยหารือแนวทางการทำงานกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือแจ้งกลับว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรได้วินิจฉัยการยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายตามหมวด 3 และหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญที่สามารถริเริ่มได้ ขั้นตอนต่อไปต้องรณรงค์เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อสนับสนุนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ โดยมีแผนจะรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567 สำหรับแนวทางการคุ้มครองแรงงานในสถานบริการ มูลนิธิฯ ต้องขอความร่วมมือจากสำนักงาน กสม. ในการร่วมผลักดันการยกร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในสถานบริการด้วย

                นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับลักษณะการทำงานของพนักงานในสถานบริการพบว่ามีหลายรูปแบบทั้งเต็มเวลา บางเวลา และแบ่งรายได้กัน เช่น ร้านนวด ซึ่งต้องพิจารณาลักษณะความสัมพันธ์ของการจ้างงานว่าเป็นลักษณะลูกจ้าง-นายจ้าง หรือไม่ หากกลุ่มใดที่เข้าข่ายเป็นลูกจ้าง นายจ้าง ก็ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยต้องพิจารณาว่าจะต้องได้รับความคุ้มครองในประเด็นใดบ้าง

                นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ระบุว่าใครก็ตามที่ทำงานแล้วได้รับค่าจ้างถือเป็นแรงงานทั้งหมด รูปแบบการจ้างงานมีหลากหลายและเป็นพลวัตร มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและสถานการณ์ เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิด (mindset) เรื่องความเป็นลูกจ้างนายจ้าง ไม่ติดกรอบเดิม  ต้องตั้งต้นจากประเด็นสิทธิแรงงานเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเภทใด หรือสัญชาติใดก็ตาม

               ช่วงท้าย ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ให้สำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. ยกร่างกฎกระทรวงตามกรอบหัวข้อที่วางไว้ และนำร่างดังกล่าวมาหารือเพื่อขอความเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและแรงงาน จากนั้นจะมีจัดการประชุมโดยเชิญกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน