กสม.สุภัทรา ร่วมเสวนาประเด็น ทิศทางต่อไปของการจ้างแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน และหลักประกันทางสังคมของแรงงานข้ามชาติในงานเกษตรกรรม

01/11/2566 33

                เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรเสวนาประเด็น ทิศทางต่อไปของการจ้างแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน และหลักประกันทางสังคมของแรงงานข้ามชาติในงานเกษตรกรรม ในการประชุมการเจรจา การปฏิรูปนโยบาย เรื่องการจ้างแรงงานข้ามชาติ และการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม จัดโดย ศูนย์การย้ายถิ่นมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ เครือข่ายคณะทำงานฯ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

                กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิแรงงานคือสิทธิมนุษยชน ตามความหมายของอนุสัญญา ILO แรงงานหมายถึงคนที่ทำงานแล้วได้ค่าตอบแทน ทุกคนคือแรงงานตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงคนกวาดถนน การคุ้มครองแรงงานไม่ควรเอาไปผูกกับการเข้าเมืองโดยถูกหรือผิดกฎหมาย เพราะนั่นเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ประเด็นที่พูดคุยกันในวันนี้จึงมี 2 เรื่องใหญ่ที่ทับซ้อนกัน คือ เรื่องสิทธิแรงงานและเรื่องแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงาน ไม่ว่าจะแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ กสม. เห็นว่ารูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตรของสังคม แต่ไม่ว่าอย่างไรแรงงานทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันภายใต้ร่มใหญ่ คือกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ จึงไม่เห็นด้วยที่จะออกกฎหมายมารองรับแต่เฉพาะกลุ่ม เพราะจะทำให้มีกฎหมายจำนวนมาก และอาจมีความเหลื่อมล้ำหรือการคุ้มครองที่แตกต่างกัน และการออกกฎหมายแต่ละฉบับใช้เวลานานมาก หากลักษณะการทำงานมีความเฉพาะก็อาจออกกฎกระทรวงมารองรับเพิ่มเติม เช่น กรณีแรงงานประมง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงแรงงานภาคเกษตรกรรม ในปัจจุบันและอนาคตจะมีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้ผลิตอาหาร เป็นผู้สร้างความมั่นคงทางอาหาร ตัวอย่างจากสงครามอิสราเอลและปาเลสไตน์ นายจ้างในอิสราเอลพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แรงงานไทยอยู่ทำงานต่อ ทั้งขึ้นค่าแรง ค่าเสี่ยงภัย เพื่อไม่ให้กลับไทย เพราะมันคือความมั่นคงทางอาหาร
                ทั้งนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้ข้อเสนอแนะทิศทางต่อไปของการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานดังนี้ 1) การยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงาน โดย กสม. เตรียมส่งข้อเสนอแนะให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความเห็นรอบด้านจากทุกฝ่ายแล้ว 2) ส่งเสริมการนำข้อชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนปฏิบัติตามข้อชี้แนะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีการประเมินผลกระทบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านในการประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งของบุคคลและชุมชน ประเทศไทยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการตามข้อชี้แนะนี้ เรียกสั้น ๆ ว่าแผน NAP ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ 2 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 3) รัฐบาลชุดใหม่แถลงนโยบายต่อสภาและบอกชัดเจนว่าจะเดินหน้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ซึ่งในเนื้อหาของข้อตกลงเกือบทุกฉบับจะมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน ถ้าประเทศไทยไม่มีระบบที่ดี ก็อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดในการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ
นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาใหญ่เรื่องแรงงานข้ามชาติคือทัศนคติเชิงลบ มีการแบ่งแยกว่าไม่ใช่คนไทยจะดูแลเท่าคนไทยได้อย่างไร เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับเปลี่ยนความคิดแบบนี้ของสังคม ผู้กำหนดนโยบาย เพราะประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยแล้ว  อย่างไรก็ขาดแคลนแรงงาน ควรมองว่าแรงงานข้ามชาติคือคนที่มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควรมองเขาเป็นมนุษย์ ในอนาคตการแย่งชิงแรงงานจะมากขึ้น ถ้าประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาขึ้น คนงานเหล่านั้นก็อาจจะไม่เข้ามาทำงานในประเทศไทยหากไม่การดูแลที่ดี

เลื่อนขึ้นด้านบน