กสม. ร่วมภาคีเครือข่าย มอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok ภายใต้แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ขอทุกฝ่ายร่วมสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารที่สร้างสรรค์และปลอดจากความรุนแรง

28/03/2567 42

          วันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย TikTok Thailand บริษัท เทลสกอร์ จำกัด COFACT ประเทศไทย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “ฮักบ่Hate พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อการสื่อสารที่ไม่ใช้ความรุนแรง” และพิธีมอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ภายใต้โครงการรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ณ SCBX Next Tech ชั้น 4 สยามพารากอน และผ่านระบบออนไลน์
 
          นางสาวพรประไพ  กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ในสังคมไทย เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนและทุกสถาบันทางสังคมต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะการสื่อสารในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต่างมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่มักพบสถานการณ์การสื่อสาร ทั้งด้วยข้อความ คำพูด หรือแม้แต่รูปภาพ ที่แสดงถึงการเหยียดหยาม ใส่ร้ายป้ายสี ดูถูก รวมถึงการยุยง ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มบุคคล ในประเด็นต่าง ๆ ที่อ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ภาษา รูปลักษณ์ เพศสภาพ อาชีพ หรือแม้แต่อุดมการณ์ความเชื่อของบุคคล Hate Speech จึงเป็นบ่อเกิดความเสียหาย อับอาย ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งผู้ถูกกระทำในหลายกรณีได้รับผลกระทบทางจิตใจ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงใยที่สุดในสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสรรค์เพื่อให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจาก Hate Speech สำหรับทุกคน
 
          ในงานดังกล่าวมีการเสวนาหัวข้อ “ฮักบ่Hate พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อการสื่อสารที่ไม่ใช้ความรุนแรง” โดย นายชำนาญ  งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ นางสาวอัยยา  ตันติเสรีรัตน์ Head of Partnerships & Co-Managing Director บริษัท เทลสกอร์ จำกัด นางสาวสุภิญญา  กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT ประเทศไทย นายสันติ  ศิริธีราเจษฎ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ความรุนแรงของปัญหาการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ผลกระทบโดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนข้อเสนอแนะในการรับมือ และการส่งเสริมการสื่อสารที่สร้างสรรค์ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
 
          Hate Speech เป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้น Free Speech หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเนื่องจาก Hate Speech มาจากอคติส่วนตัวจึงทำให้ผู้ใช้และผู้ส่งต่อเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังอาจเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งขัดแย้งกับอคติส่วนตัวได้ นอกจากนี้ หลายกรณีของการสื่อสารด้วย Hate Speech ยังนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นและนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมได้ 
 
          ในเวทียังได้กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงเชิงกายภาพอันมีที่มาจากการสื่อสารออนไลน์ เช่น การแชร์หรือส่งต่อข้อมูลข่าวลวง หรือข้อมูลบิดเบือนที่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งเพศ ศาสนา หรือความคิดความเชื่อที่แตกต่าง เช่น การส่งต่อหรือสร้างความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับศาสนาอิสลามจนทำให้เกิดกระแสความเกลียดกลัวชาวมุสลิม หรือที่เรียกว่า อิสลามโมโฟเบีย รวมทั้งปัญหาการล่อลวงเด็ก (Child Grooming) ทางออนไลน์ ที่นำไปสู่การแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ซึ่งขณะนี้หลายภาคส่วนอยู่ระหว่างผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยคุกคามทางออนไลน์
 
          นอกจากนี้ วงเสวนายังได้กล่าวถึงบทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในฐานะผู้มีบทบาทในการชี้นำสังคมออนไลน์ยุคปัจจุบันและผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่ควรจะต้องรู้เท่าทันสื่อ ทั้งการสื่อสารที่จะต้องไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่ส่งต่อหรือใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ไม่สร้างคอนเทนต์หรือแชร์ข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง รวมทั้งควรต้องเรียนรู้วิธีรับมือจากการถูกกลั่นแกล้ง (Bullying) และ Hate Speech ด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และสร้างสิ่งแวดล้อมในการสื่อสารที่ปลอดจากความรุนแรง
 
          ช่วงท้ายของกิจกรรม มีการมอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ซึ่งมีการเปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2567 และมีเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมส่งผลงานที่เป็นการแบ่งปันมุมมอง ความเข้าใจ และความตระหนักต่อเรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง เข้าร่วมการประกวดราว 200 คลิป โดยมีผู้ได้รับรางวัลเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 6 รางวัล ดังต่อไปนี้
 
          รางวัลคลิปวิดีโอคุณภาพ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ (1) ผลงานเรื่อง “เรียนรู้ เข้าใจ ไม่สร้าง #HateSpeech” โดย เด็กหญิงวรกมล  ไหมเพ็ชร (2) ผลงานเรื่อง “ครูกะเทย” โดย นายธรินทร์ญา  คล้ามทุ่ง และ (3) ผลงานเรื่อง “หยุด Hate Speech วาทะสร้างความเกลียดชัง” โดย นางสาววัชโรบล  แก้วสุติน
รางวัลยอดรับชมสูงสุด จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ (1) ผลงานเรื่อง “ร่วมด้วยช่วยกันนะคะ เราหยุดเขาก็หยุด” โดย นางสาวจิดาภา  เข็มเพ็ชร และ (2) ผลงานเรื่อง “ไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร ยังไง ก็ขอแค่ให้เราเป็นคนดี และไม่ต้องคิดและสนใจกับคำพวกนั้น” โดย นายดลวีย์  คำประดิษฐ
 
          และรางวัลถูกใจกรรมการ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “คำพูดที่แม้แต่ตัวเองยังไม่ชอบ ก็อย่ามอบมันให้คนอื่น” โดย นายไชยวุฒิ  มณีวรรณ
 
          ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมผลงานของผู้ได้รับรางวัลและผู้เข้าร่วมการประกวดได้ที่ TikTok : สำนักงาน กสม. (@nhrc_thailand)

เลื่อนขึ้นด้านบน