กสม. ศยามล ร่วมเสวนา “อนาคตประมงพื้นบ้านไทย ใต้เงากฎหมายใหม่”

02/04/2567 834
          เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเสวนา “อนาคตประมงพื้นบ้านไทย ใต้เงากฎหมายใหม่” ร่วมกับ นายเหลด เมงไช อุปนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นายวิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นางดวงรัตน์  ขุนอาจ สมาคมสตรีประมงพื้นบ้าน นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ดร.กฤษฎา  บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยร่วมเสวนาผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และมีการถ่ายทอดสด (Live) ผ่านเพจเฟซบุ๊กแฟนเพจนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึง การทำประมงพาณิชย์ ประมงขนาดกลาง และประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้านว่า รัฐบาลไทยต้องวางแผนบริหารจัดการประมงทั้ง 3 กลุ่มนี้ให้เกิดความสมดุล ซึ่งขณะนี้ประมงพาณิชย์มีเงื่อนไขการทำประมงที่ต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานประมงห้ามใช้แรงงานเด็ก และการจัดสวัสดิการแรงงานที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 เพื่อการยอมรับในการค้าระหว่างประเทศ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม. ให้การรับรองสิทธิมาตรฐานการครองชีพที่ดี ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของคนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มประชากรเฉพาะ ได้แก่ ชาวประมงพื้นบ้าน ชาวมอร์แกน ชาวเล ผู้หญิงและเด็ก ที่มีรายได้จากการเก็บหอย แกะปู สร้างรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ในช่วงโควิดที่หลายอาชีพได้รับผลกระทบ แต่การประมงพื้นบ้านกลับมีรายได้ดี และเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและกระจายรายได้ให้กับเศรษฐกิจของครอบครัวและของประเทศ ดังนั้น ชาวประมงพื้นบ้านจึงให้ความสำคัญต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลในระยะทาง 3 - 5 ไมล์ทะเล นอกจากนี้ ยังพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดกระบี่ ระนอง และอ่าวตัว ก มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นการดูแลรักษาของชาวประมงพื้นบ้าน ดังนั้น การปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จึงต้องรับรองสิทธิของชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็กด้วย
เลื่อนขึ้นด้านบน