กสม.ศยามล ให้ความเห็นการเพิ่มคำนิยาม "ชนเผ่าพื้นเมือง"ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....

02/04/2567 854
          เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... เพื่อให้ความเห็นประเด็น การเพิ่มคำนิยาม "ชนเผ่าพื้นเมือง"  ในหลักการของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CB ชั้น 4 อาคารัฐสภา
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous People) แต่ก็มิได้มีการกำหนดคำนิยามหรือยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอินโดนีเซียหรือมาเลเซียที่มีการกำหนดคำนิยามหรือสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศมาเลเซีย เช่น โอรังอัสลี ซึ่งมีความเป็นชาติพันธุ์ตระกูลเดียวกันกับชนเผ่ามันนิที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของไทย แต่รัฐไทยไม่รับรองสิทธิความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง แต่หากดูพัฒนาการในอดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการเปิดกว้างในเรื่องนี้มากขึ้น โดยในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ได้ตีความเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่มีการกล่าวถึง Indigenous People รวมถึงการกำหนดเจตจำนงของตนเองหรือที่เรียกว่า Self-Determination Right นั้น ไม่ได้มีความหมายที่จะแยกจากรัฐอธิปไตย แต่หมายความถึงการกำหนดสิทธิในการพัฒนาตนเอง ความเป็นวัฒนธรรม ความเป็นชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง ปัจจุบันลักษณะทางวัฒนธรรมของความเป็นชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง มีความเป็นอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์ที่ดินและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือภูมิปัญญาที่มีความแตกต่างจากคนทั่วไป ไม่ใช่เพียงการแต่งกาย แต่รวมถึงการดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มด้วย จากเรื่องร้องเรียนถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบว่ากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายฉบับนี้มารองรับ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองเป็นกลุ่มประชากรเฉพาะที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาจากกฎหมายเฉพาะเพื่อรับรองสิทธิของกลุ่มนี้
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ข้อห่วงกังวลของหน่วยงานรัฐในเรื่องของคำนิยาม Indigenous People อาจจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนของประเทศนั้น ทั้งนี้สามารถที่จะออกแบบกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่มุ่งส่งเสริมความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แม้จะไม่มีคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” แต่ยังคงรับรองสิทธิความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้
เลื่อนขึ้นด้านบน