กสม. สุชาติร่วมกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบที่จังหวัดนราธิวาส

26/10/2566 29

          ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางไปร่วมกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบที่จังหวัดนราธิวาส โดยมีกิจกรรมดังนี้
 
          วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมเวทีเสวนา "นับถอยหลัง 1 ปี ก่อนคดีหมดอายุความตากใบ : ความจริง ความยุติธรรมและการเยียวยา" จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรที่ทำงานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
 
          ในการเสวนาดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึงความจำเป็นในการรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบว่า เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อบุคคลที่เสียชีวิต ที่บาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ และยังส่งผลกระทบต่อญาติหรือบุคคลใกล้ชิดด้วย การจัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์จะเป็นการเรียนรู้ความผิดพลาด การศึกษาและหามาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุลักษณะดังกล่าวอีก โดยมีศาสตร์การสร้างสันติภาพวิชาว่าด้วย "Trauma Studies" ศึกษากรณีหลังเกิดเหตุรุนแรงเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่การสร้างสันติทั้งในระดับโครงสร้าง ระดับความสัมพันธ์ทางสังคม และระดับสัญลักษณ์ โดยมิได้มุ่งหมายเพื่ออาฆาตมาดร้ายต่อผู้กระทำ แต่เป็นไปเพื่อให้มีการทำความจริงให้ปรากฏ ให้เป็นที่จดจำอยู่ตลอดไป โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดกิจกรรมรำลึกและทำให้เหตุการณ์ตากใบเป็นที่จดจำต่อไป สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไข เยียวยา ป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วตั้งแต่ กสม. ชุดที่ 1 รวมถึงในปัจจุบันได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้หลักประกันสิทธิในความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยเฉพาะการควบคุมตัวบุคคลจะต้องสามารถตรวจสอบได้และไม่มีข้ออ้างใดเพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
 
          นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้สะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้มีการแจ้งความจริงของเหตุการณ์ให้ผู้ได้รับผลกระทบได้ทราบ รวมถึงเรียกร้องให้หน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ของรัฐปรับทัศนคติเรื่องหลักความรับผิดชอบและให้มองประชาชนอย่างเป็นมิตร ให้นำผู้กระทำหรือผู้รับผิดชอบเหตุการณ์มารับผิดโดยไม่กำหนดอายุความ และให้ทบทวนการเยียวยา รวมถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ ทั้งนี้ ผู้แทนของผู้ได้รับผลกระทบได้แสดงความรู้สึกและความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
 
          อนึ่ง กสม. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นำความเห็นและข้อเรียกร้องในเวทีเสวนานี้ไปศึกษาและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไปด้วย
 
          วันที่ 26 ตุลาคม 2566  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าชมนิทรรศการ "สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547" ภายใต้โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ตากใบไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ เรียกร้องคัดค้านวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และเพื่อให้ชีวิตความทรงจำได้หวนกลับสู่พื้นที่

เลื่อนขึ้นด้านบน