กสม. ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมและรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มสมัชชาคนจน บริเวณพื้นที่ชุมนุมริมคลองผดุงกรุงเกษม

22/10/2566 28

               เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00 น. นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาววันรุ่ง  แสนแก้ว ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมและรับเรื่องร้องเรียน กรณีกลุ่มสมัชชาคนจนขอให้ตรวจสอบเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ณ บริเวณพื้นที่ชุมนุมริมคลองผดุงกรุงเกษม ถนนลูกหลวง เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
 
               สืบเนื่องจากกลุ่มสมัชชาคนจนจำนวน 2,300 คน ซึ่งปักหลักชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2566 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 40 กรณี แบ่งเป็น 6 กลุ่มปัญหา ได้แก่ กลุ่มเขื่อน กลุ่มที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าไม้ กลุ่มที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในที่ราชพัสดุ กลุ่มที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่สัญญาเช่า กลุ่มแรงงาน และกลุ่มผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ
 
               โดยเนื้อหาบนเวทีมีตัวแทนของกลุ่มสมัชชาคนจน เล่าประสบการณ์การชุมนุมว่าถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐขัดขวางระหว่างการชุมนุมมีหลายคนได้รับบาดเจ็บ เช่น โดนโล่กระแทกที่ใบหน้า ถูกแผงเหล็กและรองเท้าคอมแบทของตำรวจกระแทกขาและเท้า ซึ่งเป็นการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ แต่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบ ดังนี้
               1. การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่มีการทำร้ายร่างกายและคุกคามประชาชน
               2. การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นการขัดขวางการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่
               3. ขอให้ กสม. ทำหนังสือถึงรัฐบาลและรัฐสภาให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ไปก่อน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ถูกผลักดันโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ซึ่ง ตร.ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวได้ เช่น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ในระหว่างปฏิบัติงาน หรือขัดขวางการชุมนุม ลิดรอนสิทธิในการชุมนุมโดยนำแผงกั้นมาปิดบัง
 
               ทั้งนี้ กสม. ได้พูดคุยสอบถามความเป็นอยู่ของผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ และเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม รวมทั้งทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลผู้ชุมนุมให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน