กสม. ศยามล ร่วมเวที “อีสานกับการเมืองใหม่ : การพัฒนาและบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำอีสาน” – ภาคประชาชนประกาศข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อการแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

22/10/2566 31

               วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวมณีรัตน์ มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีสัมมนาวิชาการ มนุษย์ – สังคมภาคประชาสังคม ครั้งที่ 7 “อีสานกับการเมืองใหม่ : การพัฒนาและบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำอีสาน” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการนโยบายสาธารณะสิทธิชุมชนด้านนิเวศและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนและเป็นธรรม ในปี 2566 – 2567 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสถานการณ์สิทธิในสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น (2) เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และจัดทำต้นแบบนำร่อง (3) พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในด้านต่าง ๆ (4) เสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายประชาสังคมขับเคลื่อนสิทธิสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และ (5) สื่อสารและรณรงค์เพื่อนำแนวคิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปกำหนดเป็นนโยบายต่าง ๆ

               ในการนี้ นางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในการเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาและบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำอีสาน” ร่วมกับ นายสันติภาพ  ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และนายสุวิทย์  กุหลาบวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องแม่น้ำโขง อีสาน โดยได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่ง กสม. พร้อมส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและให้ข้อเสนอแนะผ่านกลไกต่าง ๆ ของภาครัฐเกี่ยวกับแผนการพัฒนาและบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำอีสาน

               กิจกรรมในช่วงบ่ายมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอรายประเด็น ประกอบด้วย (1) กระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน (2) บทบาทนักศึกษาต่อการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านและการกระจายอำนาจ โดยศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม และ (3) สิทธิมนุษยชนกับกฎหมาย โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

               ภายหลังจบเวทีสัมมนา เครือข่ายประชาชนได้ร่วมกันกล่าว “คำประกาศข้อเสนอประชาชนภาคอีสาน ต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี” โดยมีรายละเอียดดังนี้
               “ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เกิดจากนโยบายและมาตรการเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์ โดยเปิดโอกาสให้อำนาจทุนใช้รัฐเป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่า เหมือง และพลังงาน ต่อการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมและสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชน รัฐ และทุน โดยไม่คำนึงถึงความสมดุลและความยั่งยืนของทรัพยากรที่ชุมชนได้มีการจัดการที่หลากหลายตามนิเวศของพื้นที่นั้น ๆ

               สิ่งที่กล่าวข้างต้น จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
               ดังนั้น ทางเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ที่มาระดมข้อเสนอร่วมกันในเวทีมนุษย์-สังคม ภาคประชาสังคม ครั้งที่ 7 “อีสานกับการเมืองใหม่ : การพัฒนา และบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำภาคอีสาน” จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ดังนี้

               (1) ด้านทรัพยากรแร่
               (1.1) ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยแร่ โดยกำหนดหลักการความเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ร่วมกันระหว่างรัฐ, ท้องถิ่นและสาธารณะ
               (1.2) ให้มีระบบรับรองมาตรฐานการดำเนินการ สำหรับพิจารณาต่ออายุสัมปทานหรือการขออาชญาบัตรและ/หรือประทานบัตรใหม่ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในท้องถิ่นร่วมตรวจสอบ ทั้งในระดับพื้นที่, ระดับนโยบายและในภาพรวมและให้คำรับรองมาตรฐาน

               (2) ด้านทรัพยากรน้ำ
               (2.1) ให้แก้ไขปัญหาเก่าโดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล
               (2.2) ให้ยุตินโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เป็นต้น
               (2.3) รัฐสนับสนุนนโยบายการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับชุมชนและนิเวศนั้น ๆ ตามรูปแบบที่ชุมชนหรือครัวเรือนเข้าถึงและสามารถจัดการได้เอง
               (2.4) ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดหรือประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม (SEA) ทั้งระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ เพื่อประเมินศักยภาพการพัฒนาที่สอดคล้องกับนิเวศตามพื้นที่นั้น
               (2.5) ให้ชาวบ้านได้กำหนดและจัดทำแผนฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากร เพื่ออนาคตของคนในชุมชน

               (3) ด้านโรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล
               (3.1) ให้ยกเลิกมติ ครม. 20 เมษายน 2558
               (3.2) ให้ดำเนินการประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม SEA ทั้งภาคอีสาน หรือทุกพื้นที่
               (3.3) ทบทวนแผนพัฒนาอ้อยและน้ำตาลภาคอีสาน
               (3.4) ไม่ควรเอาที่ดินอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมกับการเกษตร เช่น พื้นที่ปลูกข้าวมาเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

               (4) ด้านการกระจายอำนาจ
               (4.1) องค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้งในระดับจังหวัด  และระดับต่ำกว่าจังหวัด ต้องมีบทบาทและอำนาจในการแก้ไขปัญหาและแก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆ ในพื้นที่ ร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยไม่ต้องเฝ้ารอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล
               (4.2) ท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็ต้องรับรองและขยายบทบาทและสิทธิของชุมชน/ประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
               (4.3) ท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการตัดสินใจ และการวางแผนพัฒนาซึ่งสามารถกำหนดอนาคตของตนเอง ร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคมในท้องถิ่น

               (5) กรณี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
ในฐานะกฎหมายกลางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐ ประชาชนเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมายและปรับปรุงให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ประกาศ วันที่ 20 ตุลาคม 2566
ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”

เลื่อนขึ้นด้านบน