กสม.ศยามล ร่วมอภิปรายในงานเปิดตัวรายงานการศึกษาเรื่อง “การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

18/10/2566 29

          เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เวลา 14.20 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรอภิปราย หัวข้อ “สถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และแนวทางเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้น” ในงานเปิดตัวรายงานการศึกษาเรื่อง “การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ร่วมกับ นางอังคณา  นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 3 นายอานนท์  ยังคุณ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสาววินิตา  กุลตังวัฒนา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายวีรวัฒน์  อบโอ ทนายความสิทธิมนุษยชน และนางสาวพรชิตา  ฟ้าประทานไพร เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายต่อต้านเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ณ ห้อง Ballroom ชั้น 38 โรงแรมพลูแมน จี กรุงเทพ
.
          ในการอภิปรายดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งประเมินจากข้อมูลเรื่องร้องเรียนที่มาถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2566 มีจำนวน 30 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนว่ารัฐเป็นผู้ละเมิด ได้แก่ การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ การฟ้องปิดปาก (SLAPPs) การโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสารออนไลน์/การใส่ร้าย การสอดแนม/เฝ้าระวัง การสังหารและการลอยนวลพ้นผิด การคุกคาม ข่มขู่ ติดตาม การเข้าไม่ถึงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดย กสม. มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนหลายช่องทาง ได้แก่ ทางสายด่วน 1377 เว็บไซต์ www.nhrc.or.th E-mail : help@nhrc.or.th ทางไปรษณีย์ หรือร้องเรื่องด้วยตนเองที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) โดยจะหยิบยกเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาดำเนินการอย่างเร่งด่วน เมื่อรับทราบเรื่องร้องเรียนแล้วเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.จะติดต่อไปยังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประสานงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การคุ้มครองในทันที ทั้งนี้ มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะสามารถเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วได้
 
          กรณีการฟ้องคดีปิดปาก Anti - SLAPP Law (Strategic Litigation Against Public Participation : SLAPP)  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาคดี ดังนี้
1. การกระทำหรือกิจกรรมที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
2. วัตถุประสงค์ของการฟ้องคดี ที่ผู้ฟ้องคดีมุ่งหมายปิดกั้นการแสดงออก การคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความไม่สุจริตหรือไม่ และการฟ้องคดีมีความเหมาะสมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่
3. การฟ้องคดีส่งผลกระทบ หรือเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิต่อผู้ฟ้องคดี
4. การเยียวยานักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีภาระงบประมาณค่าใช้จ่าย
 
          นอกจากนี้ กสม. มีแผนพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทั้งในชั้นตำรวจ ทนายความอัยการ ศาล และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้ความรู้ทางกฎหมายแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

เลื่อนขึ้นด้านบน