กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 12/2567 กสม. เผยผลตรวจสอบกรณีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลว่าจ้างไรเดอร์โดยไม่ถือเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย ชี้เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน - แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบการตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ย้ำปฏิบัติให้สอดคล้องกับเพศวิถี วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนาของผู้ต้องขัง

29/03/2567 875

วันที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 12/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. เผยผลตรวจสอบกรณีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลว่าจ้างไรเดอร์โดยไม่ถือเป็นลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ชี้เป็นการละเมิดสิทธิ เสนอแนวทางแก้ไข

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนเมษายน 2566 ระบุว่า ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล จำนวน 4 ราย เปิดรับสมัครผู้ทำงานให้บริการขนส่งสินค้า (ไรเดอร์) เพื่อส่งพัสดุ เอกสาร และอาหาร ในลักษณะเป็นหุ้นส่วน โดยไม่ถือว่าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและการประกันสังคม และไรเดอร์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานเอง เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าเสื่อมสภาพของรถ ค่าเครื่องแบบหรืออุปกรณ์เสริมที่ใช้ในการขนส่ง เป็นต้น อีกทั้งยังไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ผู้ร้องเห็นว่า ข้ออ้างที่ระบุให้ไรเดอร์ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มในลักษณะหุ้นส่วนอาจเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงของนายจ้างเพื่อไม่ให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน การประกันสังคม และแรงงานสัมพันธ์ อันเป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง จึงขอให้ตรวจสอบ
 
            กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิแรงงานแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 74 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในการทำงาน และสิทธิของทุกคนที่จะมีสภาพการทำงานที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ รวมทั้งสิทธิของทุกคนในอันที่จะมีสวัสดิการสังคมรวมทั้งการประกันสังคม
            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนหลักเป็นค่ารอบซึ่งเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามผลงานที่ทำได้ตามอัตราที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนด โดยไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิในการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เนื่องจากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับไรเดอร์ไม่มีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน แต่ให้สิทธิพิเศษอื่น ๆ แทน เช่น ประกันภัย สินเชื่อจากสถาบันการเงิน การฝึกอบรม ส่วนลดในการซื้อสินค้าต่าง ๆ
 
            อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาไรเดอร์โดยตรงด้วยการกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับในการเข้าและออกงาน การแต่งกาย และการจัดส่งสินค้า ซึ่งหากไรเดอร์ไม่ปฏิบัติตามจะมีการลงโทษด้วยการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการทำงานบางประการ เช่น วิธีการจ่ายงานและค่าตอบแทน ซึ่งไรเดอร์จำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิต่อรอง และเนื่องจากไรเดอร์ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจการหรือมีส่วนร่วมในกำไรหรือขาดทุนของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งต้องหาอุปกรณ์ในการทำงานและต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเองในกรณีเกิดอุบัติเหตุ การทำงานของไรเดอร์จึงไม่ใช่หุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ของผู้ประกอบการ แต่เข้าลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาจ้างทำของ ไรเดอร์จึงมีฐานะเป็นลูกจ้างและผู้ประกอบกิจการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นนายจ้าง ตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
 
            นอกจากนี้เมื่อพิจารณาแนวคำพิพากษาศาลในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ มีคำพิพากษากรณีนี้ในทำนองเดียวกันว่า ความสัมพันธ์ตามสัญญาระหว่างผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้ที่ทำงานให้บริการผ่านแพลตฟอร์มเป็นความสัมพันธ์ของการอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายจ้างที่มีอำนาจสั่งการและลงโทษ ดังนั้น ผู้ที่ทำงานให้บริการผ่านแพลตฟอร์มจึงไม่ได้ให้บริการในฐานะผู้ประกอบอาชีพอิสระ แต่มีสถานะทางกฎหมายเป็นลูกจ้างของผู้ประกอบการเจ้าของแพลตฟอร์ม การที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ถูกร้อง ปฏิบัติไปในทางเดียวกันว่า ไรเดอร์ไม่ใช่พนักงานหรือลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ไรเดอร์ไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงาน อีกทั้งไม่มีหลักประกันในเรื่องค่าตอบแทน รวมถึงไม่ได้รับสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
                ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ถูกร้องทั้งสี่ราย และกระทรวงแรงงาน สรุปได้ดังนี้
 
(1) ให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ถูกร้อง ดำเนินการให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยสำรวจสภาพการจ้างงานในปัจจุบันว่ามีประเด็นใดบ้างที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายกรณีถือว่าไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง เช่น หลักเกณฑ์การจ่ายค่าจ้าง ระยะเวลาทำงาน การกำหนดวันลา วันหยุด เป็นต้น และกำหนดแผนการดำเนินการเพื่อให้ไรเดอร์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างหรือค่ารอบและค่าตอบแทนอื่นให้กับไรเดอร์ได้รับไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
 
            (2) ให้กระทรวงแรงงาน เร่งศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรค และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายจากการที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องปฏิบัติต่อไรเดอร์ในฐานะมีนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างและลูกจ้าง และกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองให้การใช้แรงงานไรเดอร์เป็นไปด้วยความเป็นธรรม โดยอาจกำหนดกฎกระทรวงให้งานไรเดอร์ที่ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในลักษณะเดียวกันกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 และนำข้อมูลที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวมากำหนดในกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองการใช้แรงงานไรเดอร์ให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงานและการประกันสังคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
            นอกจากนี้ให้ซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ทราบถึงนิติสัมพันธ์ที่ถูกต้องและปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคมมีมาตรการควบคุม กำกับ และติดตามให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกรายปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องสภาพการจ้างงานของไรเดอร์ต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะลูกจ้างด้วย
 
            ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงาน ศึกษาความเปลี่ยนแปลงหรือรูปแบบแรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับในระยะยาวต่อไป เช่น การแก้ไขนิยามของนายจ้าง ลูกจ้างและสัญญาจ้าง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และนิยามการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับสภาพการจ้างงาน ที่เปลี่ยนแปลงไป

            2. กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบการตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ย้ำปฏิบัติให้สอดคล้องกับเพศวิถี วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนาผู้ต้องขัง

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเป็นการปฏิบัติไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเฉพาะกรณีผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้พิจารณาเเล้วเห็นว่าระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง มีผลกระทบต่อสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของผู้ต้องขัง โดยอาจมีประเด็นขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน มิใช่เฉพาะผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ต้องขังอื่นที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องการไว้ทรงผม จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
 
            กสม. ได้ศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสารงานวิจัย และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การตัดผมผู้ต้องขังในประเทศไทยเป็นประเด็นถกเถียงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา โดยกรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาแนวความคิดในต่างประเทศ เช่น เรือนจำกลางของสหรัฐอเมริกา เห็นว่ามีแนวคิดไปในแนวทางเดียวกันกับเหตุผลของกรมราชทัณฑ์ของไทยที่การตัดผมยังคงมีความจำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่ามีฝ่ายโต้แย้งนโยบายดังกล่าวว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะจำกัดสิทธิของผู้ต้องขังมากเกินไป และไม่อาจทำให้การพัฒนาพฤตินิสัยบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ส่วนในสหราชอาณาจักรและประเทศสิงคโปร์ กำหนดให้การตัดผมอาศัยความยินยอมของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ
 
            กสม. เห็นว่า ปัญหาการตัดผมผู้ต้องขัง ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาความสมดุลระหว่างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสุขอนามัยในสภาพแวดล้อมของเรือนจำกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงเห็นควรแบ่งการพิจารณาผู้ต้องขังออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
 
            กลุ่มที่ 1 ผู้ต้องขังซึ่งมีฐานะเป็นนักโทษเด็ดขาด ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ได้กำหนดรูปแบบทรงผมในข้อ 9 ว่า “นักโทษเด็ดขาดชายให้ไว้ผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ชายผมรอบศีรษะเกรียนชิดผิวหนัง” และข้อ 10 “นักโทษเด็ดขาดหญิง ให้ไว้ผมยาวนับจากติ่งหูได้ไม่เกิน 10 เซนติเมตร แต่ความยาวดังกล่าวจะต้องไม่เลยบ่า (ประบ่า)” กสม. เห็นว่า การจำกัดเสรีภาพในการไว้ทรงผมดังกล่าว ถือเป็นมาตรการรักษาสุขอนามัยและความสงบเรียบร้อยภายในสภาพแวดล้อมที่จำกัดด้วยทรัพยากรตามบริบทของเรือนจำ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคและความปลอดภัยในเรือนจำ เป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นของเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ อีกทั้งนักโทษเด็ดขาดเป็นบุคคลที่ต้องรับโทษจำคุกจริงตามที่ศาลมีคำพิพากษาที่สุดแล้ว ดังนั้น การถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการจึงเป็นการเหมาะสมและไม่เกินกว่าเหตุบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
            กลุ่มที่ 2 ผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ระเบียบว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขังฯ ข้อ 9 กำหนดว่า “คนต้องขังชาย คนฝากชาย และนักโทษเด็ดขาดชายที่เหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 30 วัน ให้ไว้ทรงผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ชายผมรอบศีรษะสั้น ไล่ระดับไม่เกินตัวรองที่ตัดผมเบอร์ 2” และข้อ 10 กำหนดว่า “คนต้องขังและคนฝากหญิง ให้ไว้ผมยาวเลยบ่าได้ แต่ให้รวบผมหรือผูกผมให้เรียบร้อย” เป็นการกำหนดระเบียบให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาไว้แตกต่างกับนักโทษเด็ดขาดแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) รวมทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเห็นควรยกเลิกการตัดผมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี และให้ผู้ต้องขังมีสิทธิและเสรีภาพพิจารณาความเหมาะสมของทรงผมตนเองได้
 
            กลุ่มที่ 3 ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ กรมราชทัณฑ์ได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง ปี 2565 เพิ่มเติมรายละเอียด โดยเปิดช่องให้ผู้ต้องขังสามารถตัดผมตามเพศวิถีได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งถือเป็นพัฒนาการและความมุ่งมั่นของกรมราชทัณฑ์ในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้นตามลำดับ ภายใต้ข้อจำกัดของกรมราชทัณฑ์ที่มีหลายส่วน เช่น งบประมาณ กำลังคน พื้นที่คับแคบในขณะที่มีจำนวนผู้ต้องขังเกินขีดความสามารถของเรือนจำ อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าเมื่อกรมราชทัณฑ์มีความพร้อมมากขึ้น ควรพัฒนากฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแนวความคิดเพศวิถี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในเรือนจำ
 
            กลุ่มที่ 4 ผู้ต้องขังที่มีวัฒนธรรมความเชื่อและศาสนา ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ข้อ 14 กำหนดให้การตัดผมผู้ต้องขังตามระเบียบนี้ใช้บังคับเฉพาะเมื่อไม่ขัดต่อลัทธิศาสนาของผู้ต้องขังนั้น ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2564 มีกรณีชาวบ้านบางกลอยถูกจับกุม และเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ตัดผมผู้ถูกกล่าวหาทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาคดีหรือรับโทษใด ๆ ทำให้มีประเด็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เนื่องจากการไว้ผมยาวของกลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอยถือเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ บางคนจะไม่ตัดผมเลยและไว้ยาวโดยใช้ผ้าโพกเอาไว้ เพราะการตัดผมเสมือนตัดทำลายขวัญที่ยึดถือมาทั้งชีวิตอย่างรุนแรง กสม. เห็นว่า การตัดผมผู้ต้องขังดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพฤตินิสัย และกระทบต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา
            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้พิจารณาเรื่องการตัดผมให้เป็นไปตามหลักความเชื่อหรือศาสนาหรือประเพณีนิยมของผู้ต้องขัง ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 และให้ยกเลิกการตัดผมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี โดยให้ผู้ต้องขังมีสิทธิและเสรีภาพพิจารณาความเหมาะสมของทรงผมตนเองได้ รวมทั้งให้พิจารณาแก้ไขระเบียบที่ใช้บังคับในปัจจุบันให้สอดคล้องกับแนวความคิดเพศวิถี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีทางเลือกในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในเรือนจำ เช่น แม้ผู้ต้องขังยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ แต่หากได้รับฮอร์โมนเพศมาอย่างต่อเนื่องก่อนเข้าสู่เรือนจำ ควรได้รับโอกาสให้ใช้ชีวิตภายในเรือนจำให้สอดคล้องกับเพศวิถีของตน เป็นต้น รวมถึงให้กำชับ เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เคารพหลักการสำคัญข้างต้นเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
29 มีนาคม 2567

 

29/03/2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน