กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 9/2567 กสม. แนะมหาดไทยปรับเกณฑ์การรับเบี้ยความพิการ/เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กรณีมีการย้ายภูมิลำเนา ลดภาระประชาชนแจ้งยืนยันสิทธิเอง - แนะ กสทช. กำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ DTAC - TRUE ให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการในอัตราที่เป็นธรรม - ย้ำสิทธิชุมชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมใช้พื้นที่สาธารณะจากกรณีฝรั่งทำร้ายหมอที่ภูเก็ต

08/03/2567 39

วันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 9/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
 
            1. กสม. แนะมหาดไทย ปรับหลักเกณฑ์การรับเบี้ยความพิการ/เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กรณีมีการย้ายภูมิลำเนา ลดภาระประชาชนแจ้งยืนยันสิทธิเอง

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องซึ่งเป็นหลานและเป็นผู้ดูแลคนพิการทางการเคลื่อนไหวรายหนึ่ง ระบุว่า อาของผู้ร้อง ปัจจุบันอายุ 68 ปี เดิมมีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร อยู่ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้รับอุบัติเหตุทำให้พิการทางการเคลื่อนไหวและเป็นผู้ป่วยติดเตียงมากว่า 20 ปี ได้รับเงินเบี้ยความพิการ อัตราเดือนละ 800 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อัตราเดือนละ 600 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยยางโทน ผู้ถูกร้องที่ 1 ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผู้ร้องได้ย้ายภูมิลำเนาของผู้เป็นอา จากตำบลห้วยยางโทนไปอยู่บ้านของผู้ร้องที่ตำบลยางหัก และ อบต. ห้วยยางโทนได้เรียกให้คืนเงินเบี้ยความพิการประจำเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน 2565 จำนวน 7,200 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2565 จำนวน 1,200 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 8,400 บาท ขณะเดียวกัน อาของผู้ร้องยังไม่ได้รับเงินเบี้ยความพิการระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 จาก อบต. ยางหัก ผู้ถูกร้องที่ 2 ผู้ร้องเห็นว่า กรณีข้างต้นกระทบต่อสิทธิคนพิการและสิทธิผู้สูงอายุในการได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐ จึงขอให้ตรวจสอบ 
 
            กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 48 วรรคสอง และมาตรา 71 วรรคสาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (CRPD) ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้รับรองสิทธิของคนพิการและสิทธิของผู้สูงอายุในอันที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ โดยรัฐกำหนดให้มีสิทธิได้รับสวัสดิการเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คนพิการหรือผู้สูงอายุมีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพทั้งสองประเภทเป็นรายเดือน ให้แก่บุคคลดังกล่าวหรือผู้ดูแลเงินสวัสดิการ
 
            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาของผู้ร้องเป็นคนพิการและผู้สูงอายุมีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎรอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้รับเงินเบี้ยความพิการ เดือนละ 800 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท จาก อบต. ห้วยยางโทน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามลำดับ ต่อมาเมื่อผู้ร้องได้ย้ายภูมิลำเนาของอาจากตำบลห้วยยางโทนไปที่ตำบลยางหัก ผู้ร้องไม่ได้แจ้งให้ อบต. ห้วยยางโทน ผู้ถูกร้องที่ 1 ทราบเพื่อขอย้ายสิทธิรับเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยังคงจ่ายเบี้ยทั้งสองประเภทต่อไป จนกระทั่งเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2565 จึงตรวจพบว่า มีการแก้ไขภูมิลำเนาในบัตรประจำตัวของอาผู้ร้องเมื่อเดือนมีนาคม 2565 อาของผู้ร้องจึงขาดคุณสมบัติรับเงินเบี้ยความพิการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเรียกคืนเงินเบี้ยความพิการของอาผู้ร้องซึ่งได้จ่ายไประหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน 2565 รวม 9 เดือน ๆ ละ 800 บาท รวมเป็นเงิน 7,200 บาท รวมทั้งระงับการจ่ายเงินเบี้ยความพิการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ
 
            ส่วนประเด็นที่ อบต. ยางหัก ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้จ่ายเงินเบี้ยความพิการระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 และไม่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 แม้อาผู้ร้องจะย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในเขตตำบลยางหักแล้วนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สาเหตุที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้จ่ายเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้ดำเนินการให้อาของผู้ร้องลงทะเบียนขอรับสิทธิที่ อบต. ยางหัก ซึ่งเป็นภูมิลำเนาแห่งใหม่ ทั้งที่ พมจ. ราชบุรี แนะนำให้ผู้ร้องเร่งรัดดำเนินการตั้งแต่วันที่ย้ายภูมิลำเนาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แล้ว การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่จ่ายเงินเบี้ยความพิการเนื่องจากยังไม่ได้แจ้งยืนยันสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการฯ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเช่นกัน กรณีนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
                อย่างไรก็ดี กสม. มีข้อสังเกตว่า เพื่อให้การเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยความพิการและ/หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ได้รับการรับรองในอันที่คนพิการและผู้สูงอายุจะได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการจากรัฐ เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น จึงควรลดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เช่น การยืนยันสิทธิอีกครั้งที่ภูมิลำเนาแห่งใหม่เมื่อมีการย้ายภูมิลำเนา ถือเป็นการสร้างภาระเกินสมควรโดยอาจจะนำไปสู่การลิดรอนสิทธิที่จะได้รับเงินสวัสดิการต่อเนื่อง
 
                ก่อนหน้านี้ กสม. เคยพิจารณาประเด็นการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ครบถ้วน ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 120/2566 ลงวันที่ 12 กันยายน 2566 โดยมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งรัดเชื่อมโยงฐานข้อมูลของประชาชนของทุกส่วนราชการเข้ากับฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เป็นระบบเดียวกันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และนำไปปรับใช้กับการยืนยันสิทธิที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ย้ายภูมิลำเนา รวมทั้งให้ปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552
 
            ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 9/2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ สรุปได้ดังนี้ 
   
            (1) ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 120/2566 ลงวันที่ 12 กันยายน 2566 และนำไปปรับใช้กับสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยความพิการ และ/หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อมีการย้ายภูมิลำเนาโดยไม่ต้องแจ้งยืนยันสิทธิที่ภูมิลำเนาแห่งใหม่
            (2) ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เพื่อให้สิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โอนไปยังภูมิลำเนาแห่งใหม่ตามระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เมื่อมีการย้ายภูมิลำเนาโดยไม่ต้องแจ้งยืนยันสิทธิที่ภูมิลำเนาแห่งใหม่ และยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยความพิการคืนหากเป็นกรณีรับด้วยความสุจริต
 
            (3) ในระหว่างดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้อ (1) และ (2) ให้ อบต. ห้วยยางโทน และ อบต. ยางหัก ผู้ถูกร้องทั้งสองสร้างความเข้าใจกับคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้นำในชุมชน ตลอดจนผู้ดูแลคนพิการและ/หรือผู้สูงอายุ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้เข้าใจหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนเกี่ยวกับสิทธิในการรับเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
 
                2. กสม. มีข้อเสนอแนะกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง DTAC และ TRUE ย้ำ กสทช. กำกับดูแลให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการในอัตราที่เป็นธรรม และส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อย/ผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพการแข่งขัน เกิดการผูกขาดโดยผู้ขายสองราย และมีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การรวมธุรกิจยังส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคที่น้อยลง อาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลและการกำหนดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงส่งผลให้ผู้ให้บริการธุรกิจที่มีคลื่นความถี่และโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง หรือ ผู้ให้บริการ MNO (Mobile Network Operator) อาจเพิกเฉยต่อการให้บริการในพื้นที่ชนบทหรือภูมิภาคที่มีรายได้น้อยและห่างไกล ไม่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยเฉพาะเครือข่าย 5G เนื่องจากจะมุ่งเน้นทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูงในพื้นที่เมืองและพื้นที่ประชากรหนาแน่นเป็นหลัก ดังนั้น การที่ กสทช. พิจารณาให้รวมธุรกิจระหว่าง DTAC และ TRUE จะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการบริการสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต และผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองต้องเสียค่าบริการสูงขึ้น ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จึงขอให้ตรวจสอบ
 
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ โดยประชาชนต้องมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ขณะที่ มาตรา 46 มาตรา 56 วรรคสี่ และมาตรา 61 ได้รับรองสิทธิของผู้บริโภค การนำสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดำเนินธุรกิจ รัฐจะต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชน และต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้วย
 
            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กสทช. มีมติรับทราบรายงานการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดยได้กำหนดมาตรการให้ทั้งสองบริษัทปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ซึ่ง TRUE และ DTAC ได้ยื่นจดทะเบียนบริษัทใหม่ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ภายใต้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมีภาคเอกชนหลายแห่งนำกรณีดังกล่าวไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งมีประเด็นแห่งการฟ้องร้องหลายประเด็น เช่น การออกประกาศ กสทช. ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการในการกำกับดูแลการรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจากระบบอนุญาตไปสู่ระบบรายงาน ฯลฯ เป็นผลให้ TRUE และ DTAC สามารถรวมธุรกิจได้เพียงการรายงานให้ กสทช. ทราบ และขอให้ศาลเพิกถอนมติของ กสทช. ที่รับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ด้วย โดย กสม. พิจารณาเห็นว่าการที่ภาคเอกชนที่นำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว ถือเป็นกรณีตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลแล้ว
 
            อย่างไรก็ดี มีมุมมองความเห็นจากนักวิชาการอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิ พยานผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรภาคเอกชน เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าการรวมธุรกิจโทรคมนาคมข้างต้น มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการผูกขาดในตลาด ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และประชาชนทุกคนที่ใช้บริการโทรคมนาคมทั้งในด้านการได้รับบริการที่เท่าเทียม คุณภาพ ราคา หรือสิทธิในความเป็นส่วนตัว อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ที่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ 
 
            นอกจากนี้ ยังมีข้อห่วงกังวลว่าหากผู้ถูกร้องไม่สามารถกำกับดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจกันดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ได้ อาจทำให้ตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันน้อยลงและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้นแต่คุณภาพเท่าเดิมหรือน้อยลง และไม่มีการขยายพื้นที่ให้บริการไปในพื้นที่ชายขอบหรือท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งจะกระทบทั้งผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ที่ระบุถึงหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยัง กสทช. สรุปได้ดังนี้ 
 
            (1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ให้ กสทช. รายงานผลการดำเนินการต่อสาธารณชนทุก 6 เดือน จนกว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่เข้ามาเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมจนทำให้ค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI) อยู่ในระดับปกติ ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบต่อผู้บริโภคภายหลังการรวมธุรกิจ และผลการดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนด รวมทั้งผลการดำเนินการของ กสทช. ต่อกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ ไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะดังกล่าวได้
 
            นอกจากนี้ให้จัดทำแนวทาง (Road Map) ส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) หรือมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ เข้ามาในตลาดโทรคมนาคมเพิ่มมากขึ้น ขยายพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ชายขอบหรือถิ่นทุรกันดาร ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิที่จะถูกลืม เป็นต้น และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีกระบวนการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ชัดเจนและเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีที่หน่วยงานของรัฐขอข้อมูลดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้มีการเปิดเผยสถิติการขอข้อมูลของหน่วยงานรัฐให้ประชาชนรับทราบด้วย 
 
            (2) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีส่วนในการให้ความเห็นหรือร่วมพิจารณาการรวมธุรกิจโทรคมนาคมที่มีผู้แข่งขันน้อยรายซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ รวมทั้งพิจารณาแก้ไขวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ประกาศ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 จากวิธีเฉลี่ยรวมทุกรายเป็นวิธีการอื่น เพื่อป้องกันการออกรายการส่งเสริมการขายที่เอาเปรียบผู้บริโภคและทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน
 
            3. กสม. มีความเห็นประเด็นสิทธิชุมชนกรณีข่าวทำร้ายร่างกายหมอที่ภูเก็ต แนะหน่วยงานรัฐสอดส่องดูแลปัญหา ย้ำประชาชนต้องมีส่วนร่วมใช้พื้นที่สาธารณะ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวทำร้ายร่างกายหมอที่ภูเก็ต คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 เห็นว่าเหตุดังกล่าวนอกจากจะเป็นเรื่องการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายผู้อื่นซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องการรุกล้ำที่ดินสาธารณะ ทั้งนี้ชายหาดและหาดทราย ถือเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ หรือพระราชกฤษฎีกา อันเป็นไปตามมาตรา 1305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
            ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิในที่ดินจำนวนมาก ซึ่งมีกรณีพิพาทจากการที่ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะอย่างชายหาดได้เพราะเอกชนอ้างสิทธิในการถือครองที่ดินชายหาดและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดซึ่งปัญหาและความขัดแย้งมักมีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเป็นกรณีพื้นที่สาธารณะในเขตอุตสาหกรรมประมงและการท่องเที่ยวอย่างเช่นจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลอื่น ๆ
 
            กสม. เห็นว่า สิทธิในที่ดินมีความสำคัญเชื่อมโยงกับสิทธิชุมชนในการใช้และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน การที่ประชาชนและชุมชนไม่สามารถมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ย่อมไม่สอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่รับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วม จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
 
            “กรณีนี้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องที่ดินและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ แม้เอกชนเจ้าของวิลล่าที่เป็นข่าวจะเข้ารื้อถอนบันไดและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่รุกหาดยามูซึ่งเป็นที่สาธารณะแล้ว แต่ปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจสร้างปัญหาหลายอย่าง เช่น การถูกขัดขวางไม่ให้เข้าถึงพื้นที่สาธารณะ และอาจกระทบต่อพื้นที่ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ชาวประมง ซึ่ง กสม. เห็นว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินรวมทั้งการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ หากพบว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ ก็ให้เพิกถอนสิทธิดังกล่าว” นายวสันต์ กล่าว


 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
8 มีนาคม 2567   

 

08/03/2567 

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน