กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 3/2567 กสม. ชี้ กรณีผู้ต้องขังร้องเรียนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุม เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอให้สอบสวนและเยียวยาความเสียหาย - ตรวจสอบกรณีเรือนจำกลางเขาบินย้ายผู้ต้องขังเข้าแดนความมั่นคงสูงสุดโดยไม่เป็นธรรม แนะกรมราชทัณฑ์แก้ระเบียบการใช้อำนาจของ ผบ.เรือนจำ

26/01/2567 44

วันที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 3/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
 
            1. กสม. ชี้ กรณีผู้ต้องขังร้องเรียนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุม เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. สอบสวนและเยียวยาความเสียหาย

 นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับหนังสือจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ลงวันที่ 18 กันยายน 2566 รายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางได้รับตัวผู้ต้องขังตามหมายขังศาลอาญารายหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และอาวุธปืน โดยเมื่อทัณฑสถานฯ ตรวจร่างกายผู้ร้องแล้วพบว่า มีร่องรอยบาดแผลบริเวณโหนกแก้มและเท้าซ้าย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 4 (ผู้ถูกร้อง) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในพื้นที่ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และผู้ต้องขัง (ผู้ร้อง) ประสงค์ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงแจ้งมายัง กสม.

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตและร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 29 บัญญัติว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ อันสอดคล้องตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสาม กำหนดให้ กรณีที่บุคคลซึ่งจะถูกจับหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์
 
            สำหรับหลักการจับกุมตามมาตรฐานสากลนั้น ประมวลหลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (OHCHR Code of Conduct for Law Enforcement Officials) วางหลักการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไว้ว่า ต้องเคารพและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และในการใช้กำลังจะกระทำได้เฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ข้อกำหนดฉบับนี้ยังเน้นว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต้องไม่เกินกว่าเหตุหรือต้องได้สัดส่วน ด้วยเหตุผลเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันอาชญากรรม หรือจับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัย และไม่ควรใช้อาวุธปืน ยกเว้นผู้ต้องสงสัยใช้อาวุธเพื่อขัดขืนการจับกุม หรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตผู้อื่นและมาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่าไม่เพียงพอจะยับยั้งหรือจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (OHCHR Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement officials) ที่วางแนวทางไว้ว่า เจ้าหน้าที่ต้องไม่ใช้อาวุธปืนเว้นแต่เพื่อป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นให้พ้นจากอันตรายร้ายแรงที่ใกล้จะมาถึง เพื่อจับกุมบุคคลที่กำลังจะก่ออันตรายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ หรือเพื่อป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวหลบหนี และเจ้าหน้าที่ต้องแสดงตนและแจ้งเตือนให้ผู้ที่จะถูกใช้อาวุธปืนทราบก่อนว่าจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนโดยเว้นระยะเวลาอย่างเพียงพอให้ตระหนักรู้

            จากการตรวจสอบปรากฏว่า ผู้ร้องกับเพื่อนเป็นผู้ต้องสงสัยลักลอบจำหน่ายยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดติดตามและขอตรวจค้นจับกุม แต่ผู้ร้องกับเพื่อนใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะหลบหนีจนเกิดอุบัติเหตุ เมื่อไม่สามารถหลบหนีต่อไปได้ก็ยังไม่ยินยอมให้จับกุมโดยดี จึงปรากฏพยานหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนยิงสกัดการเคลื่อนที่ของรถยนต์ที่ผู้ร้องโดยสาร เมื่อรถดังกล่าวหยุดนิ่งได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแจ้งผู้ร้องกับเพื่อนด้วยวาจาว่าให้ลงจากรถหลายครั้ง รวมทั้งใช้อุปกรณ์ทางยุทธวิธีทุบกระจกรถยนต์คันดังกล่าว กระทั่งผู้ร้องกับเพื่อนยินยอมให้จับกุม ในชั้นนี้เห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้กำลังของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ได้วางแนวทางการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อพฤติการณ์ผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำความผิดในระดับต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล แล้ว

            อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพยานบุคคล ได้แก่ เพื่อนผู้ร้องและบุคคลซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อเท็จจริงตรงกันว่า หลังจากผู้ร้องลงจากรถยนต์กระบะแล้ว เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเตะไปที่ใบหน้าของผู้ร้อง 1 ครั้ง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้รับแจ้งจากพี่สาวผู้ร้องที่ระบุว่า ในคืนเกิดเหตุ ผู้ร้องได้แอบกระซิบบอกมารดาว่า ถูกเตะเข้าที่ใบหน้า 1 ครั้ง แม้จะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้อง และสำเนาเอกสารเวชระเบียนของโรงพยาบาลราชบุรีที่ระบุว่า บาดแผลที่ใบหน้าผู้ร้องเกิดจากอุบัติเหตุรถชน แต่เป็นการให้ข้อมูลของผู้ร้องที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมดูแลของผู้ถูกร้อง และน่าเชื่อว่าผู้ร้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถให้ข้อมูลต่อบุคคลอื่นได้อย่างอิสระ ข้อเท็จจริงจากพยานที่อยู่ในเหตุการณ์จึงมีน้ำหนักมากกว่า จึงรับฟังได้ว่า บาดแผลบริเวณใบหน้าของผู้ร้องเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังที่เกินสมควรแก่เหตุระหว่างการจับกุม อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ใช้รายงานฉบับนี้ประกอบการพิจารณาตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ร้อง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 หากพบว่าการบาดเจ็บของผู้ร้องเกิดจากการใช้กำลังเกินสมควรกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ให้ ตร. พิจารณาเยียวยาความเสียหายแก่บุคคลดังกล่าวตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

            2. กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนเรือนจำกลางเขาบินย้ายผู้ต้องขังเข้าแดนความมั่นคงสูงสุดโดยไม่เป็นธรรม แนะกรมราชทัณฑ์แก้ระเบียบการใช้อำนาจของ ผบ.เรือนจำ ให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน

นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ต้องขังของเรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้เรียกผู้ร้องเข้าสอบถามว่าผู้ร้องได้เขียนข้อความลงในกระดาษโดยใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อเจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบินหรือไม่ ผู้ร้องปฏิเสธและไม่ทราบว่ากระดาษแผ่นนั้นมาจากที่ใด แม้จะมีการเทียบลายมือที่เขียนข้อความดังกล่าวกับลายมือในจดหมายของผู้ร้องแล้วปรากฏว่าไม่เหมือนกัน แต่เป็นเหตุให้ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเขาบิน (ผู้ถูกร้องที่ 2) มีคำสั่งย้ายผู้ร้องไปคุมขังยังแดนความมั่นคงสูงสุดโดยไม่ได้แจ้งเหตุผลให้ทราบ รวมถึงไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อเท็จจริง นอกจากนี้ เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน ยังมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ช่วยงาน จึงขอให้ตรวจสอบ  

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง แล้วเห็นว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองว่าระบบราชทัณฑ์จะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้ผู้ต้องขังกลับตัวและเตรียมพร้อมที่จะกลับเข้าไปในสังคมร่วมกับผู้อื่นโดยที่ไม่กระทำผิดกฎหมายมากกว่าที่จะเป็นการลงโทษเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบ ประกอบกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) กำหนดไว้ว่า การจะลงโทษผู้ต้องขังจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกฎหมาย รวมถึงหลักการว่าด้วยความเป็นธรรม

            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้ตรวจพบกระดาษที่มีข้อความด่าทอโดยใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ เมื่อมีการตรวจค้นตู้ล็อกเกอร์ของผู้ต้องขังพบจดหมายและเอกสารในตู้ของผู้ร้อง จากการเปรียบเทียบลายมือแล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงได้เรียกผู้ร้องมาสอบถามข้อเท็จจริง โดยมีการบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน แต่ผู้ร้องปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ แม้ผู้ร้องจะใช้วาจาก้าวร้าวต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ แต่เป็นเพราะถูกกล่าวหา และอยู่ในสถานะเป็นผู้ต้องสงสัย ประกอบกับในขณะนั้นเจ้าพนักงานเรือนจำ ไม่มีพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์หรือมีหลักฐานอื่นที่ยืนยันได้ว่าผู้ร้องกระทำการดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน ผู้ถูกร้องที่ 1 เห็นว่าผู้ร้องมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และได้รายงานข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการเรือนจำกลางเขาบินให้ใช้อำนาจย้ายผู้ร้องจากแดน 6 ไปคุมขังแดนความมั่นคงสูงสุดทันทีภายหลังเกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่ามีการรับฟังผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำฯ ก็ได้ให้ความเห็นชอบย้าย โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 11 ของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในแดนความมั่นคงสูงสุดและเรือนจำความมั่นคงสูงสุด พ.ศ. 2561 แต่การใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงหลักการว่าด้วยความเป็นธรรม และต้องประกันความได้สัดส่วนระหว่างมาตรการลงโทษทางวินัยกับความผิดที่ผู้ร้องได้ก่อขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่ากระบวนการลงโทษทางวินัยจะมีความเป็นธรรมต่อผู้ต้องขัง ประกอบกับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตรวจพิสูจน์และมีความเห็นว่า ลายมือที่เขียนข้อความในแผ่นกระดาษดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือของผู้ร้องแล้ว ไม่อาจลงความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาการคัดย้ายผู้ต้องขังแดนความมั่นคงสูงสุด เรือนจำกลางเขาบิน ยังมีความเห็นว่า การกระทำของผู้ร้องยังไม่เข้าลักษณะพฤติการณ์ดื้อด้านยากต่อการปกครองแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเห็นว่าเจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบินและผู้บัญชาการเรือนจำกลางเขาบิน กระทำการไม่สอดคล้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ร้องถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ อีกทั้งยังถูกลงโทษทางวินัยโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ส่วนกรณีร้องเรียนว่า เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบินปฏิบัติหน้าที่โดยเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยงานหรือไม่นั้น พิจารณาว่าพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินของผู้ต้องขังเป็นสิ่งของที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เก็บรักษาไว้ในเรือนจำ พ.ศ. 2563 ให้อำนาจเจ้าพนักงานเรือนจำมีหน้าที่ในการปฏิบัติการจู่โจมตรวจค้นภายในเรือนจำเพื่อป้องปรามการกระทำความผิด และการครอบครองสิ่งของต้องห้าม โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องพบว่าการที่เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับแดน 6 มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลผู้ต้องขัง รวมทั้งตรวจตราป้องกันการกระทำผิดวินัยกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องขังครอบครองสิ่งของต้องห้ามย่อมมีอำนาจเข้าตรวจค้นได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นการรักษาระเบียบวินัยภายในเรือนจำอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังกระทำผิดวินัย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าพนักงานเรือนจำได้เอื้อประโยชน์ กลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะราย จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะต่อกรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเยียวยาผู้ร้องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่อาจเสียไประหว่างที่ถูกย้ายเข้าคุมขังยังแดนความมั่นคงสูงสุด นอกจากนี้ให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในแดนความมั่นคงสูงสุด และเรือนจำความมั่นคงสูงสุด พ.ศ. 2561 ข้อ 11 เกี่ยวกับการใช้อำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำในการคัดย้ายผู้ต้องขังที่อยู่ในการคุมขังของเรือนจำความมั่นคงสูงสุด เข้าคุมขังยังแดนความมั่นคงสูงสุดภายในเรือนจำ หรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน หรือพฤติการณ์การใช้อำนาจโดยคำนึงถึงหลักความเป็นธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน


 ข่าวเสริมประกอบการแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 3/2567
 กสม. มีหนังสือด่วนที่สุดถึง อสส. และ คกก.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ
เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจในคดี “ป้าบัวผัน”แล้ว

วันที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 10.30 น. ในการแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ กสม. มีความเห็นต่อคดีเยาวชนก่อเหตุทำร้ายร่างกายและฆ่านางสาวบัวผัน  ตันสุ หรือ “ป้าบัวผัน” ซึ่งปรากฏว่านายปัญญา  คงคำแสน หรือ “ลุงเปี๊ยก” สามีของผู้ตายถูกกระทำทรมานและบังคับข่มขู่เพื่อให้รับสารภาพ ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย นั้น ล่าสุด ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 24 มกราคม 2567 เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถึงอัยการสูงสุด และประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และกำหนดมาตรการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้เสียหาย แล้ว

            ขณะเดียวกัน กสม. มีความห่วงกังวลกรณีที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์และเพจต่าง ๆ ได้เผยแพร่ภาพที่เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์ ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชนผู้ก่อเหตุและครอบครัวอย่างแพร่หลาย อันกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งยังขัดต่อหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ระบุว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับความเคารพในความเป็นส่วนตัว ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และแม้แต่ในกระบวนการชั้นพิจารณาก็สมควรจะต้องหลีกเลี่ยงการแสดงตัวเด็กต่อสาธารณชน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐาน และชื่อของเด็ก


 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
26 มกราคม 2567  

 

26/01/2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน