กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 1/2567 กสม. ขอให้ตำรวจกำชับเรื่องการแจ้งผลคดีให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบ เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ป้องกันผลกระทบต่อประชาชน - แนะทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน จ. เชียงใหม่ ชี้ทับซ้อนกับพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง - ชงข้อเสนอแนะถึง รมว.ยธ. ย้ำการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากล

11/01/2567 39

วันที่ 11 มกราคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 1/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. แนะ ตร. กำชับเรื่องการแจ้งผลคดีให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบอย่างรวดเร็วตามกฎหมาย หลังพบการละเลยส่งผลกระทบต่อประชาชน

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ระบุว่า เมื่อปี 2543 ผู้ร้องถูกดำเนินคดีในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ต่อมาในปี 2547 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง (สภ. คลองหลวง) จังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกร้อง) ไม่แจ้งผลคดีให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบเพื่อปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องได้รับผลกระทบ เช่น ไม่สามารถขอใบอนุญาตขับรถยนต์ได้ และเสียโอกาสในการทำงาน ผู้ร้องจึงต้องติดต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตนเองเพื่อขอให้มีการปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลและได้รับการปรับปรุงข้อมูลเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ร้องเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ นอกจากนี้ มาตรา 32 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

            ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลประวัติการกระทำความผิด นั้น ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่จัดให้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาคดีอาญาทุกประเภท เว้นแต่คดีลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก รวมทั้งความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งได้เปรียบเทียบปรับแล้ว และกำหนดว่า เมื่อคดีถึงที่สุด ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานแจ้งผลคดีถึงที่สุด ส่งไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร และศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ที่ได้ส่งไปตรวจสอบประวัติ แล้วแต่กรณี โดยให้ส่งแบบรายงานแจ้งผลคดีออกจากสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน

                กรณีตามคำร้อง แม้สถานีตำรวจภูธรคลองหลวงจะชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องเสียชีวิตไปแล้ว ประกอบกับระยะเวลาได้ล่วงพ้นมาเป็นเวลานาน จึงไม่สามารถหาเอกสารเพื่อนำมาตรวจสอบให้เป็นที่แน่ชัดได้ว่า ได้แจ้งผลคดีถึงที่สุด หรือคำสั่งยุติการดำเนินคดีของพนักงานอัยการให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบหรือไม่ ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าข้อมูลประวัติการกระทำความผิดของผู้ร้องเพิ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันหลังจากที่ผู้ร้องพ้นโทษจากเรือนจำกลางลพบุรีและไปติดต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อขอให้ปรับปรุงข้อมูลด้วยตนเอง จึงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ ตร. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุตามคำร้อง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากหนังสือ สภ. คลองหลวง ที่ ตช 0016.5(12)/6363 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ที่แจ้งผลคดีของผู้ร้องให้เรือนจำกลางลพบุรีทราบว่า พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ แสดงให้เห็นว่า ผู้กำกับการ สภ. คลองหลวงในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนทราบอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อปี 2558 ว่าคดีของผู้ร้องเสร็จสิ้นแล้ว และต้องมีหน้าที่ในการติดตามและเร่งรัดให้มีการแจ้งผลคดีไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อให้ปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องให้เป็นปัจจุบัน ตามระเบียบ ตร.ฯ

            จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า การที่ผู้กำกับการ สภ. คลองหลวง ไม่แจ้งผลคดีถึงที่สุดของผู้ร้องให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และไม่ติดตาม เร่งรัดให้มีการแจ้งผลคดีไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นเหตุให้ข้อมูลของผู้ร้องถูกจัดเก็บไว้ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรและถูกร้องขอจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบประวัติ ทั้งที่ผลคดีของผู้ร้อง พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งยุติการดำเนินคดีอาญากับผู้ร้องแล้ว อันอยู่ในหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการของกองทะเบียนประวัติอาชญากรจะพิจารณาคัดเลือกแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือและเอกสารที่เกี่ยวข้องแยกออกจากสารบบหรือฐานข้อมูลประวัติอาชญากร ย่อมถือว่าเป็นการละเลยไม่จัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมภายในหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ร้องได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง

            ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะให้ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ใช้ข้อมูลตามรายงานฉบับนี้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง กรณีไม่แจ้งผลคดีไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อให้ผู้ร้องได้รับการปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำชับ ติดตาม และเร่งรัดเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ให้ปฏิบัติตามระเบียบ ตร. ว่าด้วยประมวลระเบียบตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 เพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก

            2. กสม. แนะทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน จ. เชียงใหม่ ชี้ทับซ้อนกับพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

 นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องสองรายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และกุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน โดยพื้นที่อุทยานฯ ทับที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ ไม่มีการนำแผนที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติมาชี้แจงต่อประชาชน และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน จึงขอให้ตรวจสอบ

            จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เมื่อปี 2535 มีการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน - แม่วาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขนิน และป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2536 รับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (อุทยานแห่งชาติออบขาน) โดยมีการปรับแก้แนวเขตและกันพื้นที่ทำกินและพื้นที่สาธารณประโยชน์ของประชาชน พื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานอื่น คงเหลือเนื้อที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน 147,986 ไร่ ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 อุทยานแห่งชาติออบขานได้สำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิงร่วมกับชุมชนและมีการกันพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และที่สาธารณประโยชน์ เนื้อที่ 4,329 ไร่ ออกจากเขตเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน อย่างไรก็ดีภาคประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ยังมีความประสงค์ให้กันพื้นที่ป่าอีก 24,537 ไร่ ออกด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณและบางส่วนเป็นไร่หมุนเวียน

            กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าการประกาศให้พื้นที่บ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ได้มีการสำรวจที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ไร่หมุนเวียน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงร่วมกับชุมชน และปรับปรุงเนื้อที่และรูปแผนที่ตามที่ได้สำรวจร่วมกันแล้ว แต่ยังคงเหลือพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ยังไม่ได้กันออกอีกประมาณ 24,537 ไร่ ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษาและอนุรักษ์ ฟื้นฟู วิถีชีวิตตามวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทั้งที่รัฐต้องดำเนินการส่งเสริมและคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 70 และให้สอดคล้องกับหลักการและแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วย

            นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขานเป็นการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพียงอำเภอละหนึ่งครั้งและใช้เวลาเพียงหนึ่งวัน ย่อมไม่เพียงพอและครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากด้วยข้อจำกัดในด้านเวลา ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีจำนวนมากยากที่จะแสดงความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลได้ครบทุกคน อีกทั้งผู้ได้รับผลกระทบตามคำร้องนี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากตัวอำเภอ การเดินทางมายังที่ว่าการอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง และเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ การแนบเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบ QR Code เป็นรูปแบบที่ยากต่อการเข้าถึงของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีข้อจำกัดในการใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและการพิมพ์เอกสาร รวมถึงอาจไม่เข้าใจถ้อยคำในเอกสารซึ่งเป็นภาษาไทยที่มีความซับซ้อน

            จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นว่า การกำหนดพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับซ้อนกับพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และการจัดการรับฟังความคิดเห็นต่อการประกาศอุทยานแห่งชาติฯ ยังไม่รอบด้านครอบคลุม อันเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ คุ้มครองบำรุงรักษา ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากร ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังอุทยานแห่งชาติออบขาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

            (1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
            ให้อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน โดยนำแผนที่พื้นที่ซึ่งกันพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินของประชาชน ไร่หมุนเวียน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ป่าใช้สอย รวมถึงสถานที่ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเอกสารประกอบการประชุมซึ่งจัดพิมพ์เป็นกระดาษให้ผู้นำชุมชนนำไปตรวจสอบร่วมกับประชาชนในพื้นที่ก่อนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับหมู่บ้านในทุกหมู่บ้าน โดยที่ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ จากนั้นจึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นระดับตำบลในทุกตำบล โดยมีผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนเข้าร่วม และระดับอำเภอในทุกอำเภอ โดยมีนายอำเภอ ฝ่ายปกครองท้องที่ ตัวแทนประชาชน สื่อมวลชนท้องถิ่น และนักวิชาการเข้าร่วม ตามลำดับ โดยการรับฟังความคิดเห็นไม่ควรตั้งคำถามชี้นำ แต่ต้องให้ประชาชนได้เสนอความเห็น ข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน และข้อมูลการดูแลรักษาป่าได้อย่างอิสระ

            ทั้งนี้ ให้บันทึกความคิดเห็น ข้อห่วงกังวลของประชาชน และข้อมูลการดูแลรักษาป่าโดยละเอียดเพื่อให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ รายงานข้อมูลดังกล่าวพร้อมเชิญตัวแทนผู้แสดงความคิดเห็นเข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ

            (2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
            ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับชุมชนบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการเกี่ยวกับการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

                “สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กสม. ได้รับแจ้งจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ว่า ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว โดยสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องนำวิธีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ไปใช้ในการจัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ การขยาย และเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า (ป่าอนุรักษ์) ทุกแห่ง” นางสาวศยามล กล่าว

            3. กสม. ชงข้อเสนอแนะถึง รมว.ยธ. เน้นย้ำการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากล

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ห้องกักตรวจคนเข้าเมือง และศูนย์ซักถามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ได้เข้าตรวจเยี่ยมเรือนจำกลางสงขลาภายใต้โครงการข้างต้น โดยได้รับทราบข้อเท็จจริงและสภาพปัญหา สรุปได้ดังนี้

            (1) สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง พบผู้ต้องขังสูงอายุซึ่งเป็นผู้ป่วยอยู่ระหว่างเตรียมออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปกติ อันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วยและถูกใส่กุญแจเท้าที่บริเวณข้อเท้าทั้งสองข้าง
            (2) พื้นที่ภายในเรือนจำ พบว่าเรือนจำสงขลารองรับผู้ต้องขังที่ความจุ 1.2 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของกรมราชทัณฑ์ที่ความจุ 1.6 ตารางเมตรต่อคน และต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่ความจุ 2.25 ตารางเมตรต่อคน นอกจากนี้ ยังพบว่า เรือนจำกลางสงขลาไม่มีห้องสำหรับปรึกษาคดีโดยเฉพาะเพื่อให้บริการแก่ผู้ต้องขังและทนายความ
            (3) อุปสรรคในการดูแลผู้ต้องขัง พบว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสงขลาประสงค์ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณค่าอาหารผู้ต้องขังให้ทันกำหนดระยะเวลา และให้เพิ่มงบประมาณค่าอาหารผู้ต้องขังเพื่อส่งเสริมโภชนาการและค่าครองชีพในปัจจุบัน

            ในการนี้ กสม. ได้พิจารณาหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) มุ่งหมายให้ผู้ต้องขังทุกคนพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีอันมีติดตัวมาแต่กำเนิด และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ต้องไม่ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี อีกทั้ง ระบบราชทัณฑ์ต้องไม่มุ่งให้เกิดความทุกข์ทรมานเพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องขัง เว้นแต่มีเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้ง ยังมุ่งหมายให้บุคคลนั้นสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ โดยสามารถดำรงชีวิตและพึ่งตนเอง นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพและขนาดของที่คุมขัง กำหนดให้ผู้ต้องขังได้รับอาหารอันมีประโยชน์และเพียงพอต่อสุขภาพ รวมถึงกำหนดให้ผู้ต้องขังได้ปรึกษาหารือและสื่อสารกับทนายความของตนอย่างเป็นส่วนตัว โดยไม่ชักช้าและไม่มีการลอบฟัง อันเป็นการสื่อสารที่เป็นความลับโดยสมบูรณ์

            นอกจากนี้ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ยังบัญญัติห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังเป็นหลักทั่วไป โดยมีข้อยกเว้น เช่น ผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวไปนอกเรือนจำและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ อย่างไรก็ดีต้องใช้เท่าที่จำเป็นสมเหตุผลแก่การควบคุม และในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้นอันสอดคล้องตามข้อกำหนดแมนเดลา

            กสม. เห็นว่า การดูแลและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศได้ติดตามการดำเนินการของไทยอย่างต่อเนื่อง อันอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ และการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กับประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ อีกทั้ง อาจส่งผลกระทบต่อการที่ประเทศไทยกำลังสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี 2568 - 2570

                ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อมอบหมายกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

            ในการดูแลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปกติ ควรให้เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยอย่างใกล้ชิดแทนการใช้เครื่องพันธนาการ ซึ่งเป็นมาตรการที่เพียงพอและเหมาะสมแก่กรณี ขณะที่เรือนจำกลางสงขลาควรเพิ่มพื้นที่ห้องควบคุมให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล โดยการบริหารจัดการในทางกายภาพ เช่น การกระจายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำอื่น และจัดห้องทนายความเพื่อให้ผู้ต้องขังปรึกษาหารือกับทนายความของตนได้เป็นการเฉพาะและเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามกำหนดเวลาไม่ให้ค้างจ่าย อีกทั้ง พิจารณาค่าอาหารผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับการส่งเสริมโภชนาการและค่าครองชีพในปัจจุบันด้วย


 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
11 มกราคม 2566

 

11/01/2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน