สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงพื้นที่สังเกตการณ์ และประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีการฟื้นฟูพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย

08/02/2567 854
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ลงพื้นที่สังเกตการณ์กรณีการฟื้นฟูพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมกับกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเลย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเลย ปลัดอำเภอวังสะพุง และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวังสะพุง พร้อมด้วยผู้แทนของบริษัทซึ่งได้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี จากบริษัทเดิมซึ่งเคยประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อห่วงกังวลของชาวบ้านในพื้นที่และกระบวนการขนย้ายทรัพย์สิน รวมถึงการขนย้ายกากของเสียและสารเคมีออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่เหมือง บริเวณทางเข้าเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดมีข้อห่วงกังวลถึงการดำเนินการขนย้ายซึ่งอาจทำให้เกิดการรั่วไหลปนเปื้อนของสารเคมีและสารพิษอันตราย สู่พื้นที่ชุมชนโดยรอบเหมือง
 
จากการลงพื้นที่ดังกล่าวผู้แทนของบริษัทได้ยอมรับว่าในช่วงแรกของการดำเนินการเตรียมขนย้ายเกิดข้อผิดพลาดกับการสื่อสารผู้รับจ้างในกระบวนการขนส่ง ซึ่งอาจทำให้สารปนเปื้อนหลุดออกไป ซึ่งจากนี้จะมีการกำชับการดำเนินการให้มีความปลอดภัยในทุกขั้นตอนและจัดทำแผนฟื้นฟูที่ชัดเจนตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมจะแจ้งก่อนดำเนินงาน 10 - 15 วันเพื่อให้คณะกรรมการจากส่วนกลางตามประกาศของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานการเหมืองแร่ และคณะทำงานติดตามปัญหามลพิษและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในจังหวัดซึ่งชาวบ้านมีส่วนร่วม ร่วมสังเกตุการณ์และสนับสนุนการดำเนินงานในทุกขั้นตอน เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ นอกจากนี้ยังจะมีการประสานข้อมูลการดำเนินงานกันอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูจะใช้ระยะเวลารวมประมาณ 7 เดือน (ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2566-31 พ.ค. 2567 ) นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้ขอให้มีการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างซึ่งเข้าไปทำการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์และสารเคมีต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทุกคนจะปลอดภัยและไม่มีสารปนเปื้อนหลุดไปสู่ผู้คนและชุมชนภายนอก โดยผู้แทนสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ขอให้หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสานการร่วมมือกันในการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงความห่วงกังวลและมุ่งให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านและชุมชนผู้ได้รับผลกระทบและต่อสู้ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำมาอย่างยาวนาน
 
ทั้งนี้ การลงพื้นที่สังเกตุการณ์และประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รับคำร้องประสานการช่วยเหลือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย และได้ดำเนินการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 18-19 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้บริษัทผู้ซื้อทรัพย์สินนำเสนอแผนการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ สารเคมีต่าง ๆ รวมถึงการให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ทองคำภายใต้คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลยที่เกี่ยวข้องด้วย
เลื่อนขึ้นด้านบน