สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน ลงพื้นที่สังเกตการณ์กรณีกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านให้ปิดเหมืองแร่โพแทช และเรียกร้องให้ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

22/03/2567 841

          เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ลงพื้นที่สังเกตการณ์กรณีกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านให้ปิดเหมืองแร่โพแทช และเรียกร้องให้ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ร่วมกับผู้แทนโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ และองค์กรโพรเทคชัน อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) โดยในพื้นที่ มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โพแทชด่านขุนทดโคราช ในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด” ได้รวมตัวชุมนุมบริเวณทางเข้าหมู่บ้านหนองไทร ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นำไปสู่การปิดเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ เนื่องจากกระบวนการทำเหมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ต.หนองไทร และ ต.หนองบัวตะเกียด รวมพื้นที่ทั้งหมด 9,005 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา ทั้งนี้ พบว่ามีการปล่อยน้ำเค็ม เกิดผลึกเกลือจำนวนมากทั้งในแหล่งน้ำและที่ดินชุมชนโดยรอบ เกิดผลกระทบและความยากลำบากอย่างหนักต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จนไม่สามารถทำการเกษตร การอุปโภค บริโภค มากว่า 8 ปี โดยที่ผ่านมาทางกลุ่มได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ยุติการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่มาโดยตลอดแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง อีกทั้งผู้ที่ออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวให้แก้ปัญหา ยังถูกข่มขู่คุกคามอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความไม่ปลอดภัยและไม่สามารถใช้วิถีชีวิตได้อย่างปกติสุข นอกจากนี้ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดให้ข้อมูลว่าผู้ประกอบกิจการจะมีการเปลี่ยนแผนผังโครงการจากพื้นที่ ต.หนองไทร ไปดำเนินการขุดเจาะที่ดอนหนองโพธิ์ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาความเสียหายต่อพื้นที่และประชาชน ดังเช่นในพื้นที่หนองไทร ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาและความเจริญ แต่เน้นย้ำว่าการพัฒนาต้องมาควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี กับชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โดยหน่วยงานราชการในพื้นที่และส่วนกลางต้องคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเดินทางมารับข้อเสนอและดำเนินการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้อง
 
          ต่อมานายสยาม  ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ร่วมเจรจาและรับฟังข้อเรียกร้อง จนได้ข้อสรุป และได้มีการทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาจะทำหนังสือไปถึงกรมอุตสาหกกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สรุปได้ดังนี้
 
          1. ขอให้กรมอุตสาหกกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่พิจารณาให้เปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองจนกว่าจะมีการรับฟังข้อเรียกร้องและผลกระทบจากทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด
          2. แก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการขุดอุโมงค์เดิมและสภาพพื้นที่จากการทำเหมืองเดิมให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี ทั้งมิติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต
          3. ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้มีโอกาสในการแสดงความเห็นและให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่กรม ฯ รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลของทางราชการและข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาของกรม ฯ ทางกลุ่มฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นกับทางกรมฯ และได้เข้าถึงข้อมูลจากทางกรมฯ
          4. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเจรจากับบริษัทเพื่อยับยั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแผนผังในพื้นที่ดอนหนองโพธิ์ ก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากทางกรมฯ
          5. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ข่มขู่ คุกคาม นักปกป้องสิทธิกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

          ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการคุ้มครองและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงออกเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ ตามหน้าที่และอำนาจ ของ กสม. ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน