สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสานเข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนกลุ่ม G ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

27/10/2566 284

          เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมอบหมายให้ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน รหัส G  จัดโดย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ ผู้แทนจาก สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการการประสานงานและติดตามการดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนสำนักงานยุติธรรมจังหวัดอุบลราชธานี และผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต 2 รวมทั้งผู้นำชุมชน ครู อาจารย์ จากโรงเรียนนำร่องในพื้นที่ อ.เขมราฐ และ อ.นาตาล และภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาคนไร้สิทธิ จังหวัดอุบลราชธานี ณ ห้องประชุมโรงแรมสุนีย์ จังหวัดอุบลราชธานี
 
          ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับกฎหมาย นโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสถานะนักเรียน รหัส G รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านการพัฒนาสถานะบุคคลของกลุ่มนักเรียน รหัส G โดยข้อมูลจากการประชุมพบว่ามีกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีถิ่นกำเนิดและหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับสถานะทางทะเบียนหรือไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า เด็กนักเรียนกลุ่ม G ซึ่งมีมากกว่า 110,000 ราย โดยในจังหวัดอุบลราชธานี มีเด็กนักเรียนกลุ่ม G จำนวน 679 ราย ทั้งนี้ การไม่มีสถานะทางทะเบียนหรืออยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สถานะ ส่งผลให้เด็กนักเรียนกลุ่ม G ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมีได้ รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่ต้องใช้เลขประจำตัว 13 หลัก โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขโดยเด็กที่ไม่ถือสัญชาติไทยที่เข้าเรียนในโรงเรียนไทย แม้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขได้ อีกทั้งหากเด็ก G ที่มีความพร้อมและต้องการจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาก็จะไม่สามารถเข้าศึกษาต่อได้โดยง่ายเนื่องจากปัญหาการไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาอื่นที่พบ ได้แก่
          1) แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะมีแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร์ของเด็กที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0309.1/ว.7176 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560 และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0309.1/ว.5784 ลงวันที่ 30 กันยายน 2562 แต่ยังคงมีปัญหาในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ เช่น เจ้าหน้าที่มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง โรงเรียนไม่มีบุคคลกรในการคัดกรอง กรอกแบบฟอร์มสอบประวัติ และส่งต่อข้อมูลเด็กนักเรียนกลุ่ม G เพื่อพัฒนาสถานะ 
 
          2) ขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างหลายหน่วยงานทั้งกรมการปกครอง มหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีการคัดกรอง บันทึกข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและการยืนยันตัวตนของเด็กในระดับพื้นที่ว่ามีอยู่จริงเพื่อออกเลข 13 หลักให้ได้  
 
          โดยที่ประชุมได้มุ่งให้เกิดการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมให้เป็นกลไกสำคัญในการติดตาม หนุนเสริม และแก้ไขปัญหานักเรียนกลุ่ม G ให้เข้าถึงการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้กลไกที่เป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามาขับเคลื่อน ทำให้เกิดการหนุนเสริม กำกับติดตาม และตรวจสอบความถูกต้องร่วมกันตั้งแต่ในระดับชุมชนที่มีเด็กนักเรียนกลุ่ม G อาศัยอยู่ แกนนำด้านสิทธิ ผู้นำชุมชน องค์กรในชุมชนที่เชื่อมต่อกันในหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและมีนโยบายที่เอื้อและแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงในพื้นที่

เลื่อนขึ้นด้านบน