สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสาน ร่วมสังเกตการณ์กรณีชาวบ้านกลุ่มรักษ์ดงลานเคลื่อนไหวคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่หิน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น และยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

19/03/2567 824

          เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ร่วมสังเกตการณ์กรณีชาวบ้านกลุ่มรักษ์ดงลานเคลื่อนไหวคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่หินในพื้นที่ตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู และตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ กิจกรรมเริ่มด้วยการชุมนุมบริเวณหน้าหอนาฬิกา สวนสาธารณะรัชดาณุสรณ์ โดยชาวบ้านและกลุ่มผู้แทนได้สลับกันนำเสนอประเด็นความกังวลเพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ให้คนในตัวจังหวัดและสื่อมวลชนได้รับทราบในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
 
          1) พื้นที่ซึ่งขอประทานบัตรเหมืองแร่หินอาจเข้าข่ายเป็นพื้นที่ต้องห้ามทำเหมืองแร่ตาม มาตรา 17 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม

          2) กระบวนการชี้แจงข้อมูลและการจัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นตามขั้นตอนการขอประทานบัตรเหมืองแร่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่

          3) ผลกระทบในพื้นที่ซึ่งจะเกิดขึ้นหากมีการประกอบกิจการเหมืองแร่หิน โดยในพื้นที่ อ.สีชมพู มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรต้นน้ำและแหล่งน้ำซับธรรมชาติของลำน้ำพอง มีถ้ำหินหลายแห่งที่สวยงาม มีนกและสัตว์ป่าหายาก เช่น นกโกโรโกโส ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในสถานะหายาก มีแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ใกล้พื้นที่การขอประทานบัตรไม่เกิน 500 เมตร นอกจากนี้ชาวบ้านยังกังวลต่อผลกระทบด้านการใช้ชีวิตประจำวันจากปัญหาฝุ่นละออง การใช้เส้นทางขนย้ายแร่หิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุมชนบริเวณใกล้ วัด โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปัญหาด้านการทำการเกษตร การใช้น้ำอุปโภคบริโภค และปัญหาด้านสุขภาพทางเดินหายใจซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งมีการทำเหมืองแร่หินก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งนี้ยังมีข้อห่วงกังวลผลกระทบด้านสภาพทิวทัศน์ ซึ่งพื้นที่ อำเภอสีชมพูกำลังได้รับความนิยมในด้านการท่องเที่ยวธรรมชาติ ทั้งจากรายการท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายในประเทศและชาวต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กำลังพัฒนาให้อำเภอสีชมพูกลายเป็นสถานที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งธรรมชาติวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบยั่งยืน
 
          จากนั้นชาวบ้านกลุ่มรักษ์ดงลานได้เดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดขอนแก่นเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีนายไกรสรณ์  กองฉลาก ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายยุทธพร  พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และนายอำเภอในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องร่วมรับหนังสือร้องเรียน และร่วมประชุมรับฟังข้อมูลและข้อห่วงกังวลดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้กลุ่มชาวบ้านรักษ์ดงลานได้ขอให้จังหวัดขอนแก่นโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องรับฟังและตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่การขอประทานบัตรเหมืองแร่รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และขอให้ชะลอกระบวนการขอประทานบัตรออกไปก่อนเพื่อรอการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรับที่จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 2 สัปดาห์ตามข้อเรียกร้องโดยให้ผู้แทนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้แทนในคณะกรรมการ และจะรวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็นจากชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดเพื่อเสนอต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (อพร.) ต่อไป 
 
          นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวยังได้มีการนำเสนอปัญหาการปักหมุดเวนคืนพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่านให้เป็นเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ทับซ้อนพื้นที่ทำกิน และพื้นที่ชุมชนซำผักหนาม ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทำกินได้อย่างปกติ โดยชาวบ้านขอให้จังหวัดช่วยประสานงานและตรวจสอบกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทำการรื้อถอนหลักหมุดแนวเขตออก
 
          ทั้งนี้ การร่วมสังเกตการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการลงพื้นที่ของสำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น โดยประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบกระบวนการขอออกประทานบัตรเหมืองหินดังกล่าว และขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านจากการข่มขู่คุกคามด้วย

เลื่อนขึ้นด้านบน