สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคอีสานเข้าร่วมประชุมเวทีสัมมนา “ทิศทางการทำงานและแก้ไขปัญหาคนไร้สิทธิ” จ.อุบลราชธานี .

14/03/2567 840

               เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมอบหมายให้ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เข้าร่วมประชุมเวทีสัมมนา “ทิศทางการทำงานและแก้ไขปัญหาคนไร้สิทธิ” จังหวัดอุบลราชธานี จัดโดย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนจากสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนสํานักงานยุติธรรมจังหวัดอุบลราชธานี ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ อ.เขมราฐและ อ.นาตาล และภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาคนไร้สิทธิ จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมการการสัมมนา ณ ห้องประชุมโรงแรมสุนีย์จังหวัดอุบลราชธานี
 
เวทีสัมมนาดังกล่าวได้มีการนำเสนอแนวทางการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของบุคคลไร้สถานะ ตามบันทึกความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 8 หน่วยงาน โดยมีทั้งโครงการเข้าถึงกองทุนสุขภาพและนโยบายการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขบุคคลที่ได้รับการพิสูจน์เป็นผู้มีสัญชาติไทยย้อนหลังโดยนโยบายเบิกคืนย้อนหลัง 360 วัน การแก้ไขปัญหาทางทะเบียนในกลุ่มคนเปราะบาง และบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการทางทะเบียน กระบวนการดำเนินงานของโรงพยาบาลในพื้นที่ตามโครงการจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ซึ่งร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเหลือให้ผู้มีปัญหาสถานะได้รับสิทธิทางทะเบียนราษฎรและเข้าถึงสิทธิในระบบบริการสุขภาพ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัญหาการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนและผู้นำชุมชนในพื้นที่ในประเด็นสถานะบุคคล โดยผลลัพธ์ในการดำเนินงานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาให้เกิดการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยเฉพาะในอำเภอเขมราฐและอำเภอนาตาล จนได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์สำเร็จจำนวน 263 คน และทำให้คนไร้สถานะทางทะเบียนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจำนวน 1,200 คน แต่พบว่าเด็กนักเรียนรหัส G จำนวน 729 คน ในจังหวัดอุบลราชธานียังไม่มีสิทธิสุขภาพและการเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ
 
               นอกจากนี้ ผู้แทนสำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังได้นำเสนอบทบาท หน้าที่และอำนาจ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และการทำงานของ กสม. ในประเด็นสถานะบุคคลตามหลักการสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ เช่น สิทธิทางการศึกษา การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การทำงาน การได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ต่อชุมชนและพื้นที่ตามมา ทั้งนี้ สถิติการร้องเรียนของ กสม. ในประเด็นสถานะบุคคลทั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมามีจำนวนทั้งสิ้น 517 เรื่อง และถือเป็นประเด็นร้องเรียนที่มีจำนวนมากที่สุดในปี พ.ศ. 2565 จน กสม. ยกประเด็นดังกล่าว ขึ้นเป็นประเด็นหลัก 1 ใน 5 ประเด็น และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาในเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชน ซึ่งยังพบประเด็นความท้าท้ายในกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียน และนักศึกษา (เด็กรหัส G) กลุ่มพระภิกษุ สามเณรที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นและการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สัญชาติฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 และกลุ่มผู้สูงอายุที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยปัญหาทั้งในแง่ความซับซ้อน การเชื่อมโยงของกฎหมายและนโยบายสิทธิที่เกี่ยวข้อง ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งในกลุ่มผู้ประสบปัญหาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ความล่าช้าในการพัฒนาสถานะและขาดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติในบางกลุ่ม ทั้งนี้ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะ แนวทาง การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และการติดตามความคืบหน้าเพื่อแก้ปัญหาสถานะบุคคลกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
 
               นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์หน้าที่และบทบาทการทำงานของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งการส่งเสริมและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และได้รับเรื่องร้องเรียนกับประเด็นสถานะบุคคลในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 1,080 ราย จาก 10 อำเภอ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

เลื่อนขึ้นด้านบน